Pages

บ้าน(ของ)เรา

บ้าน(ของ)เรา


ในภาษาอังกฤษ “’s” เป็นการเติมหลังคำนามเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ตัวอย่างเช่น Somchai’s home ก็คือบ้านของสมชาย จะว่าไปการแสดงความเป็นเจ้าของไม่เพียงบอกให้รู้ว่าสิ่งใดเป็นของใคร แต่ยังบอกถึงสถานะบางอย่างที่ผู้เป็นเจ้าของจะต้องใส่ใจกับสิ่งที่ครอบครองอยู่ด้วย บ้านหลังนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดแบบบ้านในงาน “บ้านและสวนแฟร์ 2009” ภายใต้แนวคิด “ออกแบบอย่างมีจิตสำนึก” (Conscious Design) ผลงานของ คุณสมพงษ์ กุลวโรตตมะ และคุณปาจรีย์ ประเสริฐ ที่ตั้งชื่อง่ายๆว่า “บ้านเรา”

หากคำว่า “เรา” ในที่นี้หมายรวมทั้งผู้อยู่อาศัยและผู้ออกแบบด้วย คงต้องมีเรื่องราวมากมายให้คิดก่อนที่จะออกมาเป็นบ้านหลังหนึ่ง ผู้ออกแบบมองคำว่า “เรา” ในมุมมองของชีวิตที่เรียบง่าย มีความนอบน้อม ความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม โจทย์ของการประกวดในปีนี้เปิดกว้างให้ผู้ออกแบบเลือกที่ตั้งของบ้านเองตามความต้องการ แต่กำหนดให้ใช้วัสดุแบบบ้านๆอย่างเช่น กระเบื้องหลังคาแบบลอน อิฐบล็อกช่องลม ลูกกรงไม้กลึง ไม้ฝาผนังซ้อนเกล็ด กระเบื้องเซรามิก เป็นต้น คุณสมพงษ์และคุณปาจรีย์จึงเลือก “แม่กลอง” อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม พื้นที่ที่ยังเต็มไปด้วยธรรมชาติอันงดงามและสมบูรณ์ ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงวิถีชีวิตแบบชาวสวน บ้านหลังนี้จึงแวดล้อมด้วยสวนผลไม้และมะพร้าวที่มีชื่อเสียงของจังหวัด

บ้านที่จะปรากฏในพื้นที่นี้ควรจะเป็นบ้านเหมือนในเมืองหลวงหรือไม่ คำตอบสำหรับผู้ออกแบบบ้านหลังนี้คือ ไม่ พวกเขาอยากให้บ้านสะท้อนความเป็นชนบทแบบเดิมๆ ทั้งการวางผัง ช่วงเสา การยกใต้ถุนสูง รวมถึงการมีบันไดขึ้นมาสู่ชานก่อนที่จะเข้าตัวบ้าน มีบางส่วนที่ออกแบบให้มีความร่วมสมัย เช่น ใช้หลังคาเพิงหมาแหงน การมีบันไดเวียนเป็นส่วนประกอบเสริม การมีระแนงไม้ที่มีรูปแบบสมัยใหม่เพื่อบังแดดทางทิศตะวันตก รายละเอียดต่างๆคงไว้ซึ่งความเรียบง่ายและก่อสร้างได้ไม่ยุ่งยาก ใช้ช่างในพื้นที่และวัสดุง่ายๆที่หาได้ในท้องถิ่น

’s จึงไม่ใช่สิ่งที่แสดงความเป็นเจ้าของ หากแต่หมายถึง “จิตสำนึก” ที่ดีที่ต้องการให้บ้านของเราไม่ก่อปัญหากับสิ่งรอบข้าง ไม่ว่าจะในแง่มุมใดก็ตาม “บ้านเรา” หลังนี้คงบอกกับเราว่าการออกแบบที่ดีมีคุณค่าไม่จำเป็นต้องใช้หลักเกณฑ์ตายตัวแบบสถาปนิกหรือนักออกแบบเสมอไป

แล้วบ้านของคุณล่ะเป็นอย่างไร…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น