Twitter ′EarlyBird′ เปิดช่องโฆษณาหารายได้

19.7.53

วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 10:02:23 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 

Web Biz - siripong@kidtalentz.com

จุดอ่อนอย่างหนึ่งในระยะยาว ของ ′ทวิตเตอร์′ ในเชิงธุรกิจซึ่งใช้เงินลงทุนหลายพันล้านบาท ก็คือการขาดที่มาของรายได้ แม้ว่าจะมีผู้ใช้งานที่รับ-ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชั่นชื่อดังตัวนี้ถึง 65 ล้านคนเป็นอย่างน้อย ขณะที่ในไตรมาสแรกของปีนี้ข้อทั้งหมดที่ส่งผ่านทวิตเตอร์ก็สูงมาก ถึง 4,000 ล้านข้อความ

ความคิดที่จะแปรให้มันออกมาเป็นรายได้เป็นเรื่องที่บริษัทก็พยายามคิดมาตลอด

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็ประกาศถึงแนวทางที่จะเปิดทางให้ผู้โฆษณาสินค้าและบริการอาศัยทวิตเตอร์เป็นช่องทางการขายสินค้าและบริการ และไม่กี่วันมานี้ก็เปิดตัวกันอย่างเป็นทางการในชื่อว่า EarlyBird

บริษัทที่มีโปรโมชั่นพิเศษในช่วงเวลาหนึ่ง สามารถเจรจากับทวิตเตอร์เพื่อส่งข้อความโปรโมชั่นผ่านแอ็กเคานต์ @earlybird ได้ จากนั้นผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่ติดตาม @earlybird ก็จะได้รับข้อความเหล่านั้นด้านบนสุดของหน้าทวิตเตอร์ หรือในบางกรณีแม้ไม่ได้ตามแอ็กเคานต์ @earlybird แต่มีคนที่ตามอยู่รีทวิตข้อความนั้นก็จะได้รับไปด้วย ความเป็นเครือข่ายสังคมจะทำให้โฆษณาโปรโมชั่นนั้นกระจายต่อไปได้อีกหลายทอด

ทวิตเตอร์จะได้รายได้จากผู้โฆษณาซึ่งรูปแบบรายได้นั้นอาจจะมีหลายแบบ เช่น เหมาจ่ายครั้งเดียว คิดเป็นสัดส่วนตามทรานแซกชั่น เป็นต้น

ในระยะเริ่มแรกนั้น เป้าหมายของโปรโมชั่นผ่าน @early มุ่งไปที่ตลาดสหรัฐเป็นหลัก ดังนั้นลูกค้าของทวิตเตอร์ จึงยังจำกัดเฉพาะบริษัทที่เน้นตลาดสหรัฐ หรือพวกแบรนด์ข้ามชาติ

ส่วนการพัฒนาในขั้นต่อไปก็คือหาทางทำให้โฆษณาที่ผ่าน @earlybird เจาะจงตลาดที่แคบลงตามตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของผู้ใช้งานทวิตเตอร์ และสุดท้ายคือการขยายไปสู่ประเทศอื่น ๆ

แนวทางของทวิตเตอร์ในการหารายได้จาก @earlybird ดูเหมือนจะมีคนจำนวนไม่น้อยมองเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างรายได้ เริ่มมีบริษัทที่ใช้บริการนี้กันแล้ว

ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประเด็นที่ทวิตเตอร์เองก็รู้ดีก็คือจะทำอย่างไรให้โปรโมชั่นซึ่งมีจำกัดเหล่านั้นไม่ได้เป็นการหว่านแหไปท่ามกลางพายุข้อความบนทวิตเตอร์ หรือเข้าไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากในชั้นต้นนี้ @earlybird ยังมีลักษณะแบบครอบจักรวาล จะมีเพียงสินค้าและบริการบางประเทศเท่านั้นที่ใช้มันอย่างได้ประสิทธิผล

อย่างไรก็ตาม ต่อไปเชื่อว่าจะได้เห็นการแบ่งเขตภูมิภาค แบ่งหมวดของสินค้าและบริการที่จะเลือกรับแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น