มองข้ามช็อต "2012" 7 เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

27.12.54
โดยข่าวสด เมื่อ 27 ธ.ค.2554

นายสตีเฟ่น อับรัม 

บรรณารักษ์ชื่อดังระดับแนวหน้าของวงการการศึกษานานาชาติ และรองประธานศูนย์การเรียนรู้ แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา คาดการณ์เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ในอีก 20 ปีข้างหน้า

โดยในปีค.ศ.2012 หรือ พ.ศ.2555 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ นายอับรัมได้พยากรณ์ถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ในปี 2555 เอาไว้ 7 อย่าง ทั้งหมดอาศัยแรงบันดาลใจจากหนังสือระดับขึ้นหิ้งที่ชื่อ "เมกาเทรนด์ส" ของนายจอห์น เนียส์บิตต์ ชาวสหรัฐ ซึ่งเคยทำนายแนวโน้มของเทคโนโลยีตลอดช่วง 2 ทศวรรษในอดีตไว้อย่างแม่นยำ

7 เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ในทัศนะของกูรูคนดังระดับโลกอย่างนายอับรัม มีดังนี้!

1. ผู้คนเปลี่ยนมาใช้ "ระบบเสมือน" ในการจ่ายเงิน

วิธีการจับจ่ายซื้อสิ่งของจะเปลี่ยนไป หลังบริการที่ชื่อว่า "สแควร์" เข้าสู่ตลาดผู้ใช้เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา ทำหน้าที่เป็นตัว การเชื่อมต่อบัตรเครดิตกับสมาร์ตโฟน ทำให้สามารถใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิต หรือเดบิต ได้ทุกที่ ทุกเวลา 

อับรัม คาดว่า อุปกรณ์ในรูปแบบดังกล่าวจะแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภคและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีหน้า เช่นเดียวกันแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้ผู้ใช้จ่ายเงินผ่านมือถือ ไอโฟน และไอแพด อาทิ เซลส์วู, กูเกิ้ล วอลเล็ต, และดีโวลา ซึ่งกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะเหม็ง ท่ามกลางกระแสการประท้วงตลาดหลักทรัพย์ และความไม่พอใจของผู้คนต่อสถาบันการเงินที่รับผิดชอบการอนุมัติบัตรเครดิต

2. คนจะหันมาใช้สมาร์ตโฟนมากกว่า และเร็วกว่าที่คุณคิด

ก่อนที่ผู้คนจะหันมาใช้ระบบเสมือนการจ่ายเงิน คนส่วนใหญ่จะต้องใช้ "สมาร์ตโฟน" กันเสียก่อน ซึ่งขณะนี้ชาวสหรัฐกว่าร้อยละ 40 หันมาใช้โทรศัพท์ดังกล่าวกันแล้ว และจะมากเกินครึ่งในปีหน้า เนื่องมาจากกระแสตื่นตัวต่อสมาร์ตโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และไอโฟน 4 เอส

ตามด้วยความเป็นไปได้ที่ ไอโฟน 5 จะวางจำหน่ายในปีหน้า เสริมความแรงด้วยระบบปฏิบัติการ "แมงโก" ของไมโครซอฟท์ที่นำวินโดวส์ 7 มาปรับปรุงใหม่ให้บูรณาการเข้ากับโซเชี่ยล มีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์มากขึ้น

แต่ระบบปฏิบัติการซึ่งจะรองรับเฟซบุ๊กได้สมบูรณ์ที่สุดคงจะเป็นระบบปฏิบัติการในสมาร์ตโฟนที่เกิดจากการพัฒนาของเฟซบุ๊ก หรือ "เฟซบุ๊ก โฟน" ร่วมกันกับบริษัทเอชทีซี มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้คนจะได้ยลโฉมกันในปีหน้า

3. "เครือข่ายออนไลน์" ถูกยกระดับสู่ "เครือข่ายแห่งการค้าขาย"

ในปีหน้า เฟซบุ๊ก จะกลายเป็นแหล่งที่บรรจุพฤติกรรมออนไลน์ในชีวิตประจำวันของคุณ ไม่ว่าจะเป็นบทความที่อ่าน ผลิตภัณฑ์ที่ชื่นชอบ ความสนใจในปัจจุบัน และอื่นๆ ซึ่งจะเข้ามาแทนที่นิสัยการเขียนข้อความส่วนตัวลงในเฟซบุ๊ก

ฟังดูน่าขนลุก แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะหากลองสังเกตไปในเฟซบุ๊กของบรรดาญาติสนิทมิตรสหายของท่านตอนนี้ก็จะสังเกตเห็นสิ่งเหล่านี้ นอกจากนี้ มีข่าวลือหนาหูด้วยว่าในปีหน้า เฟซบุ๊ก อาจเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือไอพีโอ เพื่อบริษัทจะระดมเงินทุนนำไปใช้ในการขยายกิจการ

อับรัมกล่าวว่า ที่สำคัญอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและธุรกิจเว็บไซต์ เช่น กูเกิ้ลและทวิตเตอร์ มองว่ารูปแบบการเก็บประวัติความสนใจของผู้คนนั้นเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะทำเงินก้อนโตได้ พูดง่ายๆ คือ เป็นข้อมูลสำหรับการทำวิจัยด้านการตลาดของบรรดาโฆษณาทั้งหลาย ตามมาด้วยการนำเสนอสินค้าที่เราๆ ท่านๆ เป็นผู้ซื้อแล้วแนะนำต่อให้เพื่อนๆ ที่สามารถซื้อสิ่งของเหล่านี้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

เปรียบเสมือนผู้บริโภคกลายเป็น "สินค้า" ที่บริษัทเหล่านี้ขายให้กับธุรกิจโฆษณาแทน นำมาซึ่งการร้องเรียนในประเด็น "สิทธิความเป็นส่วนตัว" หลังมีผู้ระบุว่า เฟซบุ๊กนั้นติดตามและบันทึกการท่องเว็บไซต์ของผู้ใช้ไว้ จนทำให้นายเจ. ร็อกเฟลเลอร์ ส.ว. สหรัฐ ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อติดตามเรื่องดังกล่าว

4. "โฆษณาอัจฉริยะ" รูปแบบใหม่ติดตามผู้บริโภคไปทุกสถานที่

โฆษณาที่ว่านี้จะมีลักษณะคล้ายกับรายการโทรทัศน์ "บิ๊ก บราเธอร์" ที่ให้ผู้แข่งขันไปคอยสอดส่องพฤติกรรมของเหยื่อ ทำให้ชีวิตประจำวันของพวกเราเหมือนในภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์มากขึ้นไปอีก เช่น ฉากที่โฆษณาขึ้นชื่อของตัวละครขณะกำลังมองโฆษณานั้นๆ ในภาพยนตร์เรื่อง ไมนอร์ริตี้ รีพอร์ต แบบนั้นแหละ! โดยอาศัยเทคโน โลยีระบุตำแหน่ง อาทิ จีพีเอส ในสมาร์ตโฟนที่พกๆ กันอยู่

นอกจากบริษัทโฆษณาจะมีข้อมูลว่าคุณเป็นใคร และชอบซื้ออะไรแล้ว ยังรู้ด้วยว่าอยู่ที่ไหน ส่งผลให้สามารถโฆษณาและจัดโปรโมชั่นส่งไปประเคน ให้ถึงที่ได้ชนิดที่ใกล้เคียงจริตของท่านมากที่สุด

ยกตัวอย่าง อาจมีข้อความส่งเข้ามาในสมาร์ตโฟนเชิญชวนให้เข้ามาชมสินค้าภายในร้านที่กำลังเดินผ่าน พร้อมระบุโปรโมชั่นในสินค้าที่ตรงรสนิยมของคุณ!

5. "สมองกลผู้ช่วย" ที่สั่งการผ่านเสียงได้ ในสมาร์ตโฟนทุกเครื่องบนโลก

"ซีรี" สมองกลอัจฉริยะและช่างพูด ในสมาร์ตโฟน ไอโฟน 4 เอส จากค่ายแอป เปิ้ล อาจเป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางเทคโน โลยีที่ยอดเยี่ยมที่สุดในปี 2554 และเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับกูเกิ้ลและเฟซบุ๊กด้วยในเวลาเดียวกัน แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น! เพราะเทคโนโลยีนี้เป็นการเข้ามาลดช่องว่างระหว่างทักษะของผู้ใช้กับสมาร์ตโฟน ส่งผลให้สามารถใช้สมาร์ตโฟนได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ยังไม่อยากจะคิดว่าที่กำลังถูกซุ่มพัฒนากันอยู่นั้นจะเจ๋งยิ่งกว่านี้อีกกี่สิบกี่ร้อยเท่า

ขณะที่ฝั่งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ก็ไม่น้อยหน้า มีซอฟต์แวร์ที่โต้ตอบกับผู้ใช้คล้ายซีรีอยู่มาก เช่น ไอริส ฟรายเดย์ และคลูซี ส่วนโทรศัพท์ที่ใช้วินโดวส์ก็มี "เทลมี"

6. นิยามใหม่ของคำว่า "ครอบครอง" ที่มาพร้อมกับการเข้าถึงและจัดเก็บข้อมูลแบบ "คลาวด์"

การซื้อขายและจัดเก็บข้อมูลดิจิตอลในสื่อ เช่น แฟลชไดรฟ์ แผ่นจานแสง และฮาร์ดดิสก์ ซึ่งท่านเป็นเจ้าของกำลังจะเปลี่ยนไปมากขึ้นในปี 2555 ตามแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจการจัดเก็บและเข้าถึงข้อมูลแบบ "คลาวด์" กล่าวคือ หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นข้อมูลดิจิตอล สิ่งที่ซื้อ คือ สิทธิในการเข้าถึง หรือแอ๊กเซส แทนการซื้อผลิตภัณฑ์บรรจุข้อมูลดิจิตอลที่จับต้องได้ ให้ลองจินตนาการถึงคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีฮาร์ดดิสก์ ทุกครั้งที่เปิดเครื่อง ข้อมูลที่ใช้ประมวลผลทั้งหมดอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ซึ่งต้องอาศัยการเชื่อมต่อผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต แม้แต่ระบบปฏิบัติการก็ด้วย ปัจจุบันมีแล้วและจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า

7. "นักบริหารข้อมูล" กำเนิดอาชีพใหม่ในยุคมหันตภัยแห่งดิจิตอล

ท่ามกลางสังคมออนไลน์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยข้อมูลมหาศาล ไหลหลากเข้ามากระทบต่อพฤติกรรมในชีวิตประจำวันมากขึ้น จะส่งผลให้ประชากรในโลกไซเบอร์มีบทบาทและเสียงเรียกร้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในสังคม และในขณะเดียวกันมิจฉาชีพทั้งหลายก็สามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อการล่อลวงอย่างแนบเนียนมากขึ้น โดยสำหรับผู้ที่เฉลียวฉลาดหรือรู้เท่าทันคนไม่ดีเหล่านี้ก็จะมองหาแต่ข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ซึ่งแหล่งข้อมูลเหล่านี้เองที่มีนักบริหารข้อมูล เป็น ผู้จัดการกับข้อมูลมากมายก่ายกองดังกล่าว

อับรัม ชี้ว่า ในข้อสุดท้ายนี้ถือเป็นบันไดขั้นต่อไปที่หากสังคมในปัจจุบันไม่สามารถก้าวขึ้นต่อไปได้ สังคมของมนุษย์จะกลายเป็นสังคมแห่งการล่อลวง สอดส่อง และล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในขั้นที่เลวถึงขีดสุด ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคุณจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่ากำลังถูกหลอกลวงด้วยข้อมูลเหล่านี้

"ผมเห็นอนาคตที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์และรู้จักกันมากขึ้น ผมอยากให้โลกของเราเป็นโลกที่เราเข้าใจกันและกันมากขึ้น และผมมองว่าสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นแล้ว หรือบางทีผมอาจจะแค่มองโลกในแง่ดีเท่านั้น" นายอับรัม กล่าว

จันทร์เกษม รุณภัย  เรียบเรียงจากบทความ 7 TECH TREND! (yearinreview.yahoo.com/2011)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น