คนไทยเจ๋ง พัฒนารถตัดอ้อยเทียบเท่ายุโรป

12.2.56
 
 
 
 
 
โดยเคหการเกษตร

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

นำคณะผู้บริหารโครงการสนับสนุนทุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน (โครงการ CDP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี และคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมโรงงาน หจก.สามารถเกษตรยนต์ อ.หันคา จ.ชัยนาท เพื่อดูกระบวนการผลิตรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย และความคืบหน้าของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก สวทช. พร้อมมอบรถตัดอ้อยฝีมือคนไทยให้แก่ H.E. Mr.Paulo Cesar Meira de Vasconcellos เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐบราซิลประจำประเทศไทย

รถตัดอ้อยฝีมือคนไทยมีประสิทธิภาพสูง สามารถตัดอ้อยในสภาพแปลงที่เป็นเนินภูเขาได้ เพราะปีนพื้นที่ลาดชันได้ถึง 35 องศา อีกทั้งมีชุดกลไกเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพไม่ทำให้เกิดการดึงอ้อยออกจากพื้นดิน หรือส่องผลกระทบต่ออ้อยตอที่สอง สามารถตัดอ้อยได้เฉลี่ย 80-100 ตัน/วัน

ส่วนเรื่องราคาซื้อขายถือว่าต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับรถที่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงส่งผลให้ผู้นำด้านอุตสาหกรรมการเกษตรอ้อยรายใหญ่ของโลก (บราซิล) เชื่อมั่น และสั่งซื้อรถตัดอ้อยฝีมือคนไทย

คุณสามารถ ลี้ธีระนานนท์ ผู้จัดการ หจก.สามารถเกษตรยนต์ กล่าวว่า หจก.สามารถเกษตรยนต์ ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงชิ้นส่วนของรถตัดอ้อย โดยอาศัยการปรับปรุงกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งเป็น 2 โครงการคือ 

1) การปรับปรุงกระบวนการผลิตชุดมีดสับท่อน(Chop Bar) และ 

2) การปรับปรุงกระบวนการผลิตและประกอบโครงรถตัดอ้อยและรถคีบอ้อย 

ซึ่งทั้ง 2 โครงการต้องนำเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการผลิต เพื่อให้ได้ชิ้นส่วนตรงตามที่ออกแบบและสามารถประกอบกับชิ้นส่วนอื่นได้พอดี ซึ่งผลจาการอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของ สวทช. ทำให้ทาง หจก.สามารถเกษตรยนต์ สามารถสั่งซื้อเครื่องจักรเทคโนโลยีสูงมาใช้ในการบวนการผลิตและพัฒนา ส่งผลให้รถตัดอ้อยของ หจก.สามารถเกษตรยนต์ มีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เช่น บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา เป็นต้น

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล กล่าวว่าโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน/สวทช. เป็นโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เอกชนในภาคอุตสาหกรรม ดังเช่น หจก.สามารถเกษตรยนต์ที่ขอรับการสนับสนุนจาก สวทช. จำนวน 45 ล้านบาท มาใช้ในการพัฒนาชิ้นส่วนของรถตัดอ้อยและปรับปรุงกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม 

ทำให้ ณ ขณะนี้ทาง หจก.สามารถเกษตรยนต์ สามารถพัฒนาชิ้นส่วนประกอบรถตัดอ้อยได้เอง จึงลดต้นทุนที่ต้องสั่งซื้อชิ้นส่วนจากต่างประเทศ สำหรับภาคธุรกิจที่สนใจ ร่วมปรึกษาหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) call center 0-2564-8000 หรือ e-mail: cd@nstda.or.th และ website: www.nstda.or.th/cd

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น