'รากุเทน'ฮุบ'ตลาดดอทคอม' 67%

10.6.53
ฮิโรชิ มิกิทานิ (ซ้าย) ประธานกรรมการ บริษัท Rakuten กับ ภาวุธ พงษ์วิทยานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด

"ตลาดดอทคอม"เว็บไซต์พาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของประเทศไทย ประกาศร่วมทุนกับบริษัทรากุเทน (Rakuten) ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ไม่เปิดเผยมูลค่าการซื้อขายหุ้นจำนวนกว่า 67% ที่ระบุว่าผ่านขั้นตอนขอเข้าถือครองหุ้นเรียบร้อยแล้ว ผู้ก่อตั้งตลาดดอทคอมมั่นใจ การร่วมทุนนี้จะทำให้เว็บไซต์ตลาดดอทคอมสามารถปฏิวัติวงการพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ไทยแน่นอน ฝ่ายผู้บริหารรากุเทนเผย ยังไม่คิดเอากำไรแต่จะสานธุรกิจในประเทศไทยให้มั่นคงก่อน

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทตลาดดอทคอม จำกัด กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกจำหน่ายหุ้น 67% ให้กับบริษัทรากุเทนว่าเป็นเพราะรูปแบบการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซของรากุเทนที่ ไม่เหมือนบริษัทใดในโลก

"จาก เดิมเราปล่อยให้ผู้ประกอบการขายเอง แต่นี้ไปเราจะเข้าไปนั่งข้างๆเขา ช่วยให้เขาขายได้ ดีลนี้ผมเชื่อว่าประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่ตลาดดอทคอมอย่างเดียว แต่วงการอีคอมเมิร์ซไทยจะได้รับด้วย ผมกล้าพูดว่าเราจะสามารถเป็นกบฏที่ปฏิวัติวงการอีคอมเมิร์ซเมืองไทยได้ สำเร็จ รากุเทนสามารถทำสำเร็จแล้วที่ไต้หวัน ผมเชื่อว่าในประเทศไทยก็จะสำเร็จด้วย"

เริ่มเปลี่ยนปลายปีนี้

โตชิยา มัทซึโอะ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการวางแผนและเตรียมพร้อมธุรกิจในประเทศอาเซียน บริษัทรากุเทน อธิบายว่ารูปแบบธุรกิจอีคอมเมิร์ซของรากุเทนที่แตกต่างจากบริษัทชั้นนำของ โลกอย่างอีเบย์ ยาฮู หรือกูเกิล คือการสนับสนุนและให้ความรู้ผู้ค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยให้ผู้ค้าสามารถจำหน่ายสินค้าได้ และลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้อย่างมีความสุข จุดนี้มัทซึโอะระบุว่าอาจจะมาในรูปการโหมทำโปรโมชันร่วมกับร้านค้า ซึ่งอาจจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้

"เรา จะสนับสนุนให้ร้านค้ามีกำไรมากที่สุด เมื่อนั้นเราก็จะวิน-วินไปด้วย โดยเฉพาะคนที่ไม่เก่งคอมพิวเตอร์ก็สามารถทำอีคอมเมิร์ชกับเราได้ ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในชนบทห่างไกลของญี่ปุ่นเราก็ทำสำเร็จมาแล้ว"

ผู้บริหารทั้ง 2 บริษัทระบุว่า การบริหารงานในตลาดดอทคอมนับจากนี้จะเป็นการบริหารงานร่วมกัน สัญลักษณ์ที่ใช้บนเว็บจะใช้ร่วมกัน 2 โลโก้ทั้งตลาดดอทคอมและรากุเทน บริการบนเว็บไซต์จะเน้นการจำหน่ายทั้งในประเทศและข้ามประเทศ ระหว่างญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย ในส่วนของบริษัทตลาดดอทคอม ผู้บริหารของรากุเทนจะนั่งเก้าอี้ประธานบริหาร ประธานฝ่ายปฏิบัติการ และประธานฝ่ายการเงิน ขณะที่ภาวุธจะนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการดังเดิม

"ผู้ ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยนับจากนี้ต้องปรับตัวอีกมาก ในส่วนของเว็บไซต์ตลาดดอทคอมจะยังมีให้บริการทั้งรูปแบบเก่า (ผู้ค้าวางกลยุทธ์เอง) และแบบใหม่ผสมกัน การเปลี่ยนแปลงบนเว็บแบบเต็มรูปแบบเชื่อว่าจะเกิดขึ้นต้นปีหน้า นโยบายหลังจากนี้คือการเน้นขายสินค้าข้ามชาติ"

ภาวุธยืนยันว่าการขายหุ้นตลาดดอทคอมครั้งนี้ไม่ใช่การถอดใจจากธุรกิจ อีคอมเมิร์ชไทย โดยเป้าหมายจากนี้คือการนำรูปแบบธุรกิจของรากุเทนมาปรับให้เข้ากับตลาดไทย ให้มากที่สุด

"เราต้องเอามาโลคอลไลซ์เอง ญี่ปุ่นมาทำก็ไม่เข้าใจตลาดไทย การขายหุ้นครั้งนี้ไม่ใช่การเทกโอเวอร์ แต่เป็นจอยเวนเจอร์ ซึ่งเราจะบริหารร่วมกัน ไม่มีการลดคน มีแต่จะรับเพิ่มขึ้นด้วย"

รากุเทนเล็งสยายปีกคลุมเอเชีย

การเข้าถือหุ้นตลาดดอทคอมของรากุเทนถือเป็นการขยายตลาดออกนอกญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 แล้ว โดยก่อนหน้านี้ รากุเทนรุกตลาดอีคอมเมิร์ซไต้หวันและมียอดขายในพื้นที่นอกญี่ปุ่นเติบโต เฉลี่ย 19.7% ต่อปี บนเว็บไซต์ 5 ภาษา

"ประเทศ ที่ 3 ที่รากุเทนจะไปยังบอกไม่ได้ แต่เราจะอยู่ในเอเชีย ประเทศไทยมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจที่ดี มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 15.4 ล้านคน อัตราการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ชก็สูงถึง 40% ต่อปี มีการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และยังมีการให้สิทธิพิเศษในการส่งเสริมการลงทุนของ BOI" มัทซึโอะกล่าว

สิทธิพิเศษที่รากุเทนได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ของประเทศไทย (BOI) คือการยกเว้นเงินภาษีนิติบุคคลนาน 8 ปี และสิทธิในการตั้งสำนักงานที่ใดก็ได้ในประเทศไทย

ปัจจุบัน รากุเทนมีสมาชิกผู้ใช้งานราว 60 ล้านคนในประเทศญี่ปุ่น มีผลประกอบการรวม 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในส่วนธุรกิจตลาดออนไลน์มีสินค้าวางจำหน่ายราว 40 ล้านชิ้น มีร้านค้าออนไลน์กว่า 30,000 ร้าน

สำหรับตลาดดอทคอม ปัจจุบันมีร้านค้าออนไลน์ 160,000 ร้าน จัดจำหน่ายสินค้ออนไลน์ไปแล้วกว่า 1.4 ล้านชิ้น มีสมาชิกมากกว่า 2 ล้านคน
                     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น