ใครก็ตามที่เคยลองค้นหาความหมาย และที่มาของ Social Enterprises ในเชิงธุรกิจมาบ้างก็อาจจะมองว่า แนวคิดนี้ไม่ต่างอะไรไปจากโลกในอุดมคติที่ยากจะเกิดขึ้นจริงๆ บนโลกที่กระแสทุนนิยมได้แผ่อิทธิพลครอบคลุมไปทุกตารางนิ้ว
แต่ในความเป็นจริงก็พบว่า สังคมในอุดมคตินี้ได้เกิดขึ้นจริงๆ แล้วมาร่วมสิบปี
ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษมีร้านอาหารเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อว่า
Fifteen Restaurants
ที่ก่อตั้งโดย
Mr. Jamie Oliver ในปี 2002
โดยเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่มีปัญหาทางครอบครัว และลุกลามไปจนเป็นปัญหาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมเป็นพนักงานในร้านอาหารแห่งนี้
ด้วยวัตถุประสงค์และอุดมการณ์ที่แน่วแน่ ชัดเจน แทนที่คนทั่วไปจะรังเกียจ เพราะพนักงานร้านอาหารแห่งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเด็กจากสถานพินิจที่เคยสร้างปัญหาให้กับสังคมมาก่อน ตรงกันข้าม Fifteen Restaurants ได้รับการยอมรับและพูดถึงอย่างกว้างขวาง จนมีคนเข้ามาอุดหนุนกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
สื่อมวลชนเป็นจำนวนมากต่างก็ให้ความสนใจมาทำข่าว
จากร้านอาหารเล็กๆ Fifteen Restaurants ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างมากและได้มีการขยายสาขาไปยังประเทศต่างๆ อีกหลายสาขา อาทิ Amsterdam Netherlands ในปี 2004, เมือง Cornwall ในอังกฤษ และ Melbourne Australia ในปี 2006
แต่ละปี Fifteen Restaurants มีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาอุดหนุนมากกว่า 100,000 คน โดยในปี 2007 ร้านสามารถสร้างรายได้มากกว่า 4,000,000 ปอนด์ โดยในจำนวนนี้ทางร้านได้มีการแบ่งปันเงินกว่า 250,000 ปอนด์ เพื่อไปใช้ในกิจกรรมเพื่อสังคม อาทิ เป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กที่มีปัญหา
เรื่องของการศึกษา ปี 2003 ทางร้านได้รับเด็กเข้ามาจำนวน 16 คน ซึ่งก็พบว่าในจำนวนนี้เด็กๆสามารถสำเร็จการศึกษาด้วยกันถึง 8 คน ต่อมาในปี 2004 ก็รับเด็กเพิ่มเป็น 24 คน และสามารถสำเร็จการศึกษาได้ถึง 14 คน
เบ็ดเสร็จแล้วจนถึงปี 2008 Fifteen Restaurants ได้รับเด็กเข้ามามากถึง 106 คน ในจำนวนนี้ 54 คน สามารถเรียนไปทำงานไปจนจบการศึกษา และเปลี่ยนเป็นคนใหม่
เรียกได้ว่า Fifteen Restaurants ได้ให้ชีวิตใหม่กับพวกเขาก็คงไม่ผิดนัก
เบื้องหลังความสำเร็จของ Fifteen Restaurants นี้ จะว่าไปแล้วก็มาจากหลักการของมาร์เก็ตติ้งล้วนๆ คือ แนวคิดที่ทำให้ร้านอาหารของตนเองแตกต่างไปจากร้านอาหารอื่นๆ ด้วยการเพิ่มมูลค่าในส่วนของความห่วงใยสังคมเข้าไป โดยกำหนดเป็นวัตถุประสงค์หลักอย่างชัดเจน
ที่สำคัญก็คือ Stakeholders ของ Fifteen Restaurants ที่มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นลูกค้า, ซัพพลายเออร์, พนักงาน, สถาบันการศึกษา, สื่อมวลชน, ผู้ก่อตั้ง ฯลฯ ก็ล้วนมีความรู้สึกที่ดีทุกคน
เท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้คนที่เป็นลูกค้ารู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมทุกครั้งที่ควักกระเป๋าจ่ายค่าอาหารให้กับธุรกิจคอนเซ็ปต์ใหม่อย่าง Social Enterprise
อีกเคสหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือการเกิดของ
หนังสือพิมพ์อย่าง The Big Issue ในปี 1991
ที่เกิดจากความร่วมมือของ
Mr. Gordon Roddick และ
Mr. John Bird
สองผู้ก่อตั้ง Body Shop ที่อยากเห็นคนจรจัดในลอนดอนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
Roddick เรียกหนังสือพิมพ์ของเขาเอาว่า Street News เพราะความเชื่อที่ว่าไม่มีหนทางใดที่จะเข้ามาช่วยเหลือคนเร่ร่อนได้ดีไปกว่าการสร้างงานและรายได้ให้กับพวกเขาเหล่านั้น ดังนั้นทั้งคู่จึงตัดสินใจรับคนจรจัดเข้ามาเป็นพนักงานส่วนหนึ่ง รวมถึงให้คนเร่ร่อนอีกส่วนหนึ่งมีรายได้จากการนำเอาหนังสือไปจำหน่ายตามแหล่งชุมชนต่างๆ อีกด้วย โดยคนเหล่านี้จะรับหนังสือพิมพ์ไปในราคา 75 เพนนี และนำไปขายปลีกตามท้องถนนในราคา 1.5 ปอนด์
ปรากฏว่า The Big Issue ค่อยๆ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะมีคนหยิบยกเอาเรื่องนี้ไปพูดต่อๆ กันไป ถึงวัตถุประสงค์ของการทำหนังสือ ไม่นานหนังสือเล่มนี้ก็เป็นที่รู้จักของคนอังกฤษ และต่อมาก็ได้มีการนำเอาหัวหนังสือไปผลิตและจำหน่ายในอีกหลายประเทศ อาทิ สกอตแลนด์, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, แอฟริกาใต้, เคนยา, เอธิโอเปีย, มาลาวี และ นามิเบีย
The Big Issue เรียกว่าเป็นรูปแบบธุรกิจมุ่งหาผลกำไรที่ตั้งต้นจากรากฐานของการแก้ปัญหาสังคมที่สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างงดงาม ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีเป้าหมายมุ่งทำกำไรสูงสุดเหมือนสำนักพิมพ์อื่นๆก็ตาม
การที่ใครต่อใครหลายคนต่างพร้อมใจกันอุดหนุนหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการอ่านเนื้อหา แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น
ปัจจุบัน The Big Issue มียอดพิมพ์ราว 150,000 ฉบับต่อสัปดาห์ และมีผู้อ่านมากถึง 658,000 คนต่อสัปดาห์ ทุกวันนี้รายได้ของ The Big Issue นั้นมาจากการขายโฆษณาเป็นหลัก และอีกส่วนจะมาจากการรับบริจาคด้วยแรงศรัทธาจากแรงบันดาลใจของปรัชญาสั้นๆ ที่ว่า Famous, Rich & Homeless Offer Your Support to People Still Facing on The Streets
Divine Chocolate ก็จัดว่าเป็นอีกกรณีศึกษาของการเอาแนวคิด Social Enterprise เข้ามาผนวกกับธุรกิจของตนเอง ภายใต้วัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย หรือที่เรียกว่า Fair Trade
วิธีการทำธุรกิจของ Divine Chocolate ก็คือการเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ปลูกโกโก้ในประเทศกานา ทวีปแอฟริกา ในนามของสหกรณ์ Kuapa Kokoo เข้ามาถือหุ้นในบริษัทได้ 45% เพื่อที่เกษตรกรจะได้เงินปันผลจากกำไรในแต่ละปี นอกเหนือจากการขายวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็มีเกษตรกรในสหกรณ์แห่งนี้กว่า 45,000 คนที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของ Divine Chocolate
เมื่อมารวมกับแนวคิด Fair-Trade หรือการซื้อสินค้าวัตถุดิบเพื่อมาแปรรูปในราคาที่ไม่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกรก็พอที่จะลืมตาอ้าปากได้บ้าง เพราะสามารถขายผลผลิตในราคาที่สมเหตุสมผล ไม่โดนกดราคาจนหน้าเขียว
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างบางส่วนที่เกิดจากความร่วมมือของคนในสังคมที่ทุกคนสามารถแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของร่วมกัน
สังคมแห่งการให้ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ดูดีเสมอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น