Pages

เครื่องจับเท็จไร้สายพิสูจน์คนลวง

โดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 18 ม.ค.2553

จะมีเครื่องมืออะไรที่บอกถึง "ความในใจ" ที่ซ่อนอยู่ลึกในใจคนได้ดีไปกว่า "เครื่องจับเท็จ" ที่ช่วยภารกิจด้านสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงของตำรวจ

เครื่องจับเท็จทำงานโดยผสมผสานอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ใช้ตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ขณะผู้ต้องสงสัยถูกถามคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้ตรวจจะดูอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต อัตราการหายใจ และการเปลี่ยนแปลงกระแสคลื่นไฟฟ้าที่ชั้นผิวหนัง โดยเปรียบเทียบกับภาวะปกติ

ถ้าเส้นกราฟที่ได้มีการแกว่งหรือขึ้นๆ ลงๆ ที่ต่างกันมาก นั่นก็อาจจะชี้ได้ว่า ผู้ที่ถูกตรวจสอบในขณะนั้นกำลังหลอกลวง แต่ว่าผลการตรวจสอบนั้นก็แล้วแต่ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบจะตีความว่า นี่ใช่การโกหกหรือไม่

ตามที่เคยเห็นในฉากหนังเครื่องจับเท็จจะมีสายระโยงระยางเชื่อมตัวเครื่องกับผู้ต้องสงสัย แต่ด้วยเทคโนโลยีไร้สายที่ก้าวหน้า อีกไม่นานจะมีเครื่องจับเท็จแบบไร้สาย หนึ่งในผลงานวิจัยของหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ ภายใต้สังกัดศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

เครื่องจับเท็จไร้สายจะทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจจับอุณหภูมิระยะไกล โดยอาศัยหลักการถ่ายเทความร้อน และการตรวจวัดเชิงแสงเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้ต้องสงสัย

ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ เนคเทค

กล่าวว่า เครื่องจับเท็จไร้สายเป็นผลงานต่อยอดจากซอฟต์แวร์วัดอุณหภูมิระยะไกล หรือเครื่องตรวจอุณหภูมิร่างกายระยะไกล ซึ่งติดตั้งใช้จริงอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ระบาด

จุดเด่นของเครื่องจับเท็จไร้สายคือ ประสิทธิภาพที่แม่นยำสูง

"เครื่องจับเท็จทั่วไปเมื่ออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จะแสดงผลไม่ชัดเจน เนคเทคจึงนำเทคโนโลยีไอทีทางไกล มาช่วยสร้างซอฟต์แวร์ใช้ในการสืบสวนสอบสวนและวิเคราะห์ความผิดปกติ ข้อดีของการใช้เทคโนโลยีไร้สายคือ สามารถตรวจสอบความจริงจากปากคำของผู้ต้องหา โดยไม่ต้องสัมผัสตัว ช่วยในการหาหลักฐานเพิ่มเติมในคดีต่างๆ

รวมถึงยืนยันความบริสุทธิ์ของผู้ต้องสงสัย ทำให้กระบวนการสอบสวนของหน่วยงานด้านความมั่นคงได้รับความน่าเชื่อถือ"

เนคเทคนำเทคโนโลยีไอทีเข้ามาช่วยในรูปแบบซอฟต์แวร์ช่วยสืบสวนสอบสวน โดยวิเคราะห์และประมวลผลจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น อุณหภูมิใบหน้า หลังจากใช้เวลาศึกษาและปรับแต่งโปรแกรมอยู่ 3 ปี ทีมวิจัยได้

ซอฟต์แวร์ต้นแบบชื่อ "เทด" (Thermal Analyzer for Deceptive Detection : TAD) 

ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังทดสอบประสิทธิภาพอยู่

“งานวิจัยดังกล่าวเกิดจากโจทย์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มองหาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ช่วยยืนยันความบริสุทธิ์ให้แก่ผู้ต้องหา ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ ถ้าเราทำสำเร็จ ถือว่าเป็นครั้งแรกของโลก” ดร.ศรัณย์ กล่าว

โปรแกรมดังกล่าวอาศัยการตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของคลื่นความร้อน ของอุณหภูมิบนใบหน้า ด้วยหลักการถ่ายเทความร้อน หรือระบบตรวจวัดเชิงแสงมาใช้ควบคู่ไปกับการติดตามบริเวณที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ผลได้ทันที หลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบ

เวอร์ชั่นล่าสุดมีความแม่นยำของการวิเคราะห์อยู่ที่ 84% สามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมให้คงที่ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้น ที่มีผลต่อผลการวิเคราะห์ และยังเก็บข้อมูลผู้ถูกสัมภาษณ์ ชุดคำถาม พร้อมทั้งรวบรวมผลการวิเคราะห์ไว้ในฐานข้อมูลด้วย

นักวิจัยมั่นใจว่า ซอฟต์แวร์จับเท็จช่วยให้การสืบสวนสอบสวนทำได้ง่าย และสะดวกมากยิ่งขึ้น และยังมีโอกาสเชิงพาณิชย์ด้วย

ก่อนหน้านี้เทคโนโลยีรูปแบบคล้ายกันถูกนำมาประยุกต์ใช้ทำซอฟต์แวร์วัดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิระยะไกล เพื่อตรวจวัดไข้ผู้โดยสารจากต่างประเทศ ในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ระบาดเมื่อปีที่แล้ว

ทีมวิจัยยังได้พัฒนาเครื่องพิสูจน์บัตรเครดิตปลอม โดยแยกแยะความผิดปกติในตำแหน่งต่างๆ ของบัตรเครดิตด้วยเทคโนโลยีประมวลผลภาพจากจุดที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร รูปตราสัญลักษณ์ และเครื่องหมายที่สายตาเปล่าไม่อาจแยกแยะได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น