รถเมล์ไฮโดรเจนไทย ถูกกว่ารถเช่า NGV

28.3.54
โดยไทยรัฐ เมื่อ 21 พ.ค.2552

นับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำประเทศระดับนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจทดลองสัมผัสขับรถไฟฟ้าพลังไฮโดรเจนฝีมือคนไทยด้วยตัวเอง

ต้อง ให้เครดิตกับ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะว่ารถไฟฟ้าพลังไฮโดรเจน ที่ไม่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ไม่ต้องง้อน้ำมันที่ตั้งท่าจะขึ้นราคาอีกรอบนี้ คนไทยคิดทำได้มาตั้งแต่ปี 2549 โน่นแล้ว...ที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้นำประเทศไทยให้ความสนใจถึงเพียงนี้

อย่าว่าแต่สนับสนุนเลย...แม้แต่จะเยี่ยมกรายให้กำลังใจในการสร้าง สรรค์ผลงาน ก็ยังไม่เคยมีให้เห็น

แต่ รถไฟฟ้าพลังไฮโดรเจน ที่นายกรัฐมนตรีทดลองขับโชว์ในทำเนียบรัฐบาลนั้น...เป็นแค่รถเก๋งซีดานเล็กๆ ขนาด 4 ที่นั่ง ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปลายปี 2550 โน่นแล้ว

วันนี้การประดิษฐ์คิดค้นสร้างรถไฟฟ้าไม่ง้อน้ำมัน พึ่งพาแต่ก๊าซไฮโดรเจนที่ได้จากน้ำของคนไทย ได้พัฒนาก้าวไกลไปอีกขั้นหนึ่ง

พ.ศ. 2552...พัฒนาเป็นรถเมล์รับส่งผู้โดยสารขนาด 20 ที่นั่ง

ตาม โครงการรถแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ที่มี นายประสิทธิ์ โพธสุธน เป็นประธานกรรมาธิการฯ

โครงการผลิตรถเมล์ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2549 สภาวิจัยแห่งชาติ ได้ให้ทุนสนับสนุน

พล.อ.ท.มรกต ชาญสำรวจ อดีตเจ้ากรมสรรพาวุธทหารอากาศ 

ผลิตรถไฟฟ้าพลังไฮโดรเจน
ตอนนั้นเป็นแค่ขั้นเริ่มต้น ประสบความสำเร็จสามารถผลิตเซลล์เชื้อเพลิงแปลงก๊าซไฮโดรเจนเป็นไฟฟ้า ได้เซลล์เชื้อเพลิงขนาดเล็ก มีน้ำหนักแค่ 4 กก. ได้ กำลังไฟฟ้าแค่ 1 กิโลวัตต์...สามารถขับเคลื่อนรถกอล์ฟให้พอวิ่งไปได้เท่านั้นเอง

จาก ความสำเร็จขั้นต้น ปีถัดมา นายอานนท์ บุญยุรัตเวช เลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ จึงได้สนับสนุนให้ พล.อ.ท.มรกต เพิ่มขนาดของเซลล์เชื้อเพลิงให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้มีพลังไฟฟ้ามากพอที่จะผลักให้รถเก๋งซีดานขนาด 4 ที่นั่ง วิ่งไปได้

ได้ เซลล์เชื้อเพลิง แปลงก๊าซไฮโดรเจนเป็นไฟฟ้าที่ให้กำลังขนาด 8 กิโลวัตต์ ทำให้รถเก๋งวิ่งได้ด้วยความเร็ว 100 กม.ต่อชั่วโมงได้สำเร็จเมื่อปลายปี 2550

เป็นรถไฟฟ้าพลังไฮโดรเจน คันที่ นายกฯ อภิสิทธิ์ ได้ทดลองขับในทำเนียบเมื่อวันก่อนนั่นแหละ

ถึง คนไทยจะผลิตรถเก๋งไฟฟ้าพลังไฮโดรเจน ที่คนทั่วโลกฝันจะให้เกิดขึ้นจริงเพื่อจะได้ไม่ต้องง้อน้ำมันแพงก็ตาม แต่ภาครัฐโดยเฉพาะฝ่ายการเมืองที่กุมนโยบาย กุมอำนาจบริหารประเทศ ก็ยังเพิกเฉยไม่ให้ความสนใจที่จะต่อยอด สิ่งประดิษฐ์ของคนไทย

ปี 2551 คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ วุฒิสภา เลยคิดโครงการที่จะสานต่องานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนขึ้นมา
8 ส.ค. 2551 มีการแต่งตั้งอนุกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ ขึ้นมาคณะหนึ่ง มี นางนิลวรรณ เพชระบูรณิน เป็นประธาน ศึกษารถยนต์ที่ใช้น้ำเป็นเชื้อเพลิง ว่าจะสามารถทำเป็นรถแห่งชาติได้อย่างไร

ในที่สุดก็ออกมาเป็น ทำเป็นรถเมล์

" คณะอนุกรรมาธิการมองว่า ถ้าจะทำเป็นรถเก๋งต่อไปคงไม่เวิร์ก เพราะมีราคาสูงเกินไป แม้รถเก๋งไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนของเราราคาแค่ 3 ล้านบาท ถูกกว่าของต่างประเทศที่ขายกันในราคาเป็นสิบล้านบาทก็ตาม

3 ล้านบาท คณะอนุกรรมาธิการมองว่า เป็นราคาที่แพงเกินไป เกินกว่าชาวบ้านจะซื้อหามาใช้ได้ แต่จะให้โครงการรถแห่งชาติเกิดขึ้นได้ น่าจะผลิตเป็นรถเมล์ วิ่งรับส่งผู้โดยสาร แล้วให้หน่วยราชการซื้อไปใช้ให้บริการประชาชน โครงการน่าจะเป็นไปได้มากกว่า และรถเมล์ที่จะผลิตขึ้นมา ควรเป็นรถเมล์ขนาดเล็ก ขนาด 20 ที่นั่งก็พอ

เพื่อจะนำไปวิ่งใช้งานใน ใจกลางเมืองที่มีรถติดมาก ผลิตเป็นรถคันใหญ่วิ่งไปก็เกะกะกินเนื้อที่ถนนในเมืองที่เล็กแคบ ยิ่งทำให้รถติดมากไปอีก ที่สำคัญรถเมล์ไฟฟ้าพลังไฮโดรเจนนี้ ไม่มีควันพิษ เสียงก็ไม่ดัง ช่วยลดมลพิษในเมืองได้เป็นอย่างดี"

พล.อ.ท.มรกต เล่าถึงที่มาของโครงการรถแห่งชาติ

เมื่อ เป็นรถเมล์ ขนาดของรถใหญ่ขึ้น ผู้โดยสารมากขึ้น การผลิตเซลล์เชื้อเพลิงก็ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ได้กำลังไฟฟ้ามากพอที่จะลากรถและผู้โดยสารไปถึงจุดหมายได้

จากเซลล์เชื้อเพลิงรถเก๋งขนาด 8 กิโลวัตต์ 1 ก้อน...เพิ่มมาเป็นเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 11 กิโลวัตต์ 2 ก้อน

การ เพิ่มขนาดของเซลล์เชื้อเพลิงให้ใหญ่ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไม่ยาก เพราะขนาดเล็กกว่านี้นิดหน่อยยังทำได้...จะทำให้ใหญ่ขึ้นอีกหน่อยทำไมจะไม่ ได้

ที่ไหนได้ พล.อ.ท.มรกต บอกว่า...แทบจะนับหนึ่งใหม่เลย

" หลายอย่างที่นึกว่าจะง่ายเหมือนรถเก๋ง ไม่ง่ายสำหรับรถเมล์ เพราะเมื่อทำเซลล์เชื้อเพลิงให้ใหญ่ขึ้นมา ได้กำลังไฟฟ้า 11 กิโลวัตต์เหมือนอย่างที่ต้องการ แต่ปรากฏว่า การออกตัวของรถเมล์ไม่สามารถพุ่งตัวได้เหมือนรถเก๋ง รถเมล์ออกตัวได้ช้าเกินไป เซลล์เชื้อเพลิงไม่สามารถจ่ายกำลังไฟฟ้าได้รวดเร็วเหมือนอย่างที่ตั้งใจไว้"

หลังจากสำรวจหาจุดบกพร่อง ในที่สุดก็รู้จุดอ่อนว่ามาจาก 2 สาเหตุหลัก

1. เซลล์เชื้อเพลิงมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อปล่อยก๊าซไฮโดรเจนเข้ามาในเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า ปรากฏว่า เกิดความร้อนในเซลล์เชื้อเพลิงมากขึ้น กำลังไฟฟ้าที่ออกมาในระยะแรกจะออกมาช้า กว่าจะได้กำลังไฟฟ้าเต็มที่ พอที่จะฉุดให้รถออกตัวได้ต้องใช้เวลา

รถเมล์ติดไฟแดง ออกตัวช้า มีปัญหา...เพื่อให้ได้กำลังไฟฟ้าเต็มที่ ในเวลารวดเร็ว ต้องเพิ่มระบบระบายความเร็วให้เซลล์เชื้อเพลิง

2. MEA (Membrane Electrode Assembly) เยื่อเปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นไฟฟ้า จะได้ไฟฟ้าเร็วไม่เร็วตัวนี้สำคัญมาก

"เดิมทีเราใช้ผ้าคาร์บอนเคลือบแพลทินัมมาทำเป็นเยื่อ MEA ก็สามารถแปลงไฮโดรเจนเป็นไฟฟ้าได้รวดเร็วระดับหนึ่ง แต่ก็ยังช้าสำหรับรถเมล์

เลย ทดลองเอากระดาษคาร์บอนเคลือบแพลทินัมมาทำเป็นเยื่อ MEA แทน ปรากฏว่าได้กำลังไฟฟ้ารวดเร็วทันใจมากกว่า เร็วพอที่จะเอามาใช้กับรถเมล์ได้"

หลังจากแก้ปัญหารถเมล์ติดไฟแดงออกตัวช้าไม่เกะกะชาวบ้านได้...รถเมล์ ไฟฟ้าพลังไฮโดรเจนคันแรกของไทยก็ประสบความสำเร็จ

สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 60 กม.ต่อชั่วโมง วิ่งได้ทั้งวันโดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ง้อแต่ก๊าซไฮโดรเจน

ไฮโดรเจน 2 กก. รถเมล์วิ่งได้ทั้งวัน (ประมาณ 200 กม.)

ซดไฮโดรเจนขนาดนี้ ถ้าถามว่า...ซดไฮโดรเจนกี่บาท

ณ วันนี้ ต้องบอกว่า ไม่มีราคา...เพราะก๊าซไฮโดรเจนบ้านเรามีมามาย มหาศาล เฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดแห่งเดียว โรงแยกก๊าซ, โรงงานแก้ว, โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก, โรงงานปิโตรเคมี ปล่อยไฮโดรเจนทิ้งไปในอากาศเพราะไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ชั่วโมงละ 20 ตัน

ปล่อยทิ้งแค่ชั่วโมงเดียว เอามาเติมให้รถเมล์วิ่งทั้งวันได้ถึง 10,000 คัน

และถ้าสมมติว่า ก๊าซไฮโดรเจนฟรีไม่มีให้เติม ถ้าจะผลิตเอง พล.อ.ท.มรกต บอกว่า ผลิตทำเองที่บ้านก็ได้
คิดแบบแพง เอาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์เซลล์มาแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำประปา

น้ำประปา 1 ลิตร ได้ไฮโดรเจน 1 กก. ...คิดต้นทุนรวม ค่าน้ำประปาบวกค่าแผงโซลาร์เซลล์ เฉลี่ยแล้วไฮโดรเจน 1 กก.จะอยู่ที่ 30 บาท

ไฮโดรเจน 2 กก. 60 บาท รถเมล์วิ่งได้ 200 กม. จ่ายค่าพลังงาน กม.ละ 30 สตางค์...ก๊าซ NGV ที่ว่าถูกสุด แพงกว่านี้หลายเท่าตัว

ส่วนถามว่าราคารถเมล์ไฟฟ้าไฮโดรเจนนี้ราคาเท่าไร...พล.อ.ท.มรกต บอกว่า ถ้าผลิตในเชิงพาณิชย์ น่าจะอยู่ที่คันละ 5 ล้านบาท

รถเมล์ NGV ที่เขาดันทุรังจะเช่ากัน 4,000 คัน 69,788 ล้านบาท... ตกคันละ 17 ล้านบาท

เอาซื้อมาสร้างรถเมล์ไฮโดรเจนไม่ดีกว่าหรือ...ได้ตั้ง 14,000 คัน

ไทยได้ทั้งทำเอง คนไทยมีงานทำ มลพิษไม่มี ไม่ต้องง้อน้ำมัน ก๊าซที่จ้องจะแพง

ที่สำคัญรัฐบาลไม่ต้องมาปวดหัวขึ้นค่ารถเมล์ เพราะน้ำมันแพง ให้ชาวบ้านสาปส่งอีกต่อไป

ทุกอย่างดูดีไปหมด...แต่ไม่มีใครอยากทำกัน หรือเป็นนักการเมืองทำดีไม่เป็น...ทำดีไม่ได้ ถ้าไม่ได้เงิน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น