โดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 19 ก.ค.2553
ปัจจุบัน ‘ขนมไทย’ กำลังกลับมาเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากขึ้น หลังรัฐบาลหันมารณรงค์อนุรักษ์สินค้าไทยและอาหารไทย ‘ขนมไทย’ ถือเป็นหนึ่งในอาหารไทย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สร้างความประทับใจในรสชาติที่หอมหวาน กลมกล่อม ละเมียดละไมไม่เหมือนขนมชาติใด
เมื่อขนมไทยได้พัฒนามาสู่การค้าเชิงธุรกิจและไม่ได้บริโภคกันเองภายในประเทศแล้ว การที่จะพัฒนารสชาติให้ถูกปากชาวต่างชาติ และการเก็บรักษาสินค้าให้มีอายุยาวนานขึ้น โดยยังคงคุณภาพและรสชาติของขนมไทยไม่ให้สูญเสียไปนั้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการขนมไทยจำเป็นต้องหันมาพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตของตนเอง ดังเช่น บริษัท ยู.เอ็ม.ไทร์ดอเตอร์ สวีท จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทขนมไทยและเบเกอร์รี่ ภายใต้แบรนด์ “ขนมบ้านอัยการ” ซึ่งมีสินค้าหลักที่รู้จักกันดี คือ ขนมเปี๊ยะ กระหรี่พัฟ กลีบลำดวน คุกกี้ไทยต่างๆ และขนมไทยอื่นๆ อีกกว่า 50 ชนิด
ธนดา สุวรรณสิทธิ์ หนึ่งในกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยู.เอ็ม.ไทร์ดอเตอร์ สวีท จำกัดกล่าวว่า ตลาดของขนมไทยเป็นตลาดที่กว้างมาก แต่หากไม่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เน้นเฉพาะรสชาติให้อร่อยเพียงอย่างเดียว แม้จะมีแบรนด์เป็นของตนเองก็ใช่ว่าจะล้ำหน้าคู่แข่งได้ตลอด การทำขนมไทยให้ติดปากผู้บริโภคและทำอย่างไรที่จะให้กลับมาซื้อสินค้าแบรนด์ของเราอีกจึงถือเป็นโจทย์ที่ขนมบ้านอัยการให้ความสำคัญอย่างมาก
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ขนมบ้านอัยการจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งถือเป็นจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของบริษัท ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
“การทำ R&D ถือเป็นสิ่งสำคัญกับทุกธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ขนมไทยที่ยังต้องหันมาทำวิจัยและพัฒนาเรื่องของคุณภาพสินค้า ซึ่งการทำ R&D ของขนมบ้านอัยการก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าล้ำหน้าคู่แข่งรายอื่นๆ และยังเป็นการยกระดับขนมไทยสู่มาตรฐานสากลอีกด้วย ด้วยความใส่ในทุกขั้นตอนการผลิต และการผลิตอาหารอย่างถูกสุขลักษณะและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล GMP และ HACCP ขนมบ้านอัยการจึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในตลาดโลก”
ในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้น ธนดา เล่าว่า แต่เดิมบริษัทฯ ไม่เคยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี แต่เมื่อต้องการทำขนมให้ออกมามีรสชาติที่ถูกใจผู้บริโภคและยืดอายุการเก็บรักษาสินค้า จึงตัดสินใจเข้ารับความช่วยเหลือจาก iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย) ซึ่งได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมไทย (TITEC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เข้ามาเป็นที่ปรึกษา พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างให้ครึ่งหนึ่ง
“iTAP ทำให้เราได้เห็นช่องทางว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดและเพิ่มศักยภาพการผลิตได้อีกมาก ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในการอบขนม การนำบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหารเข้ามาดูแลด้านการผลิต รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจในระบบการทำงานและการใช้เทคโนโลยีต่างๆได้อย่างถูกต้อง”
นอกจากนี้ ขนมบ้านอัยการยังถือเป็นผู้ประกอบการขนมไทยรายแรกที่นำ ‘ซอฟต์แวร์’ เข้ามาใช้วางแผนการผลิตในกระบวนการผลิตแต่ละไลน์ให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการให้มีสต็อกสินค้าหน้าร้านมากเกินไป หรือให้มีของเหลือคืนน้อยที่สุด เพื่อลดต้นทุนการผลิตและพยายามผลิตสินค้าให้ลูกค้าได้รับประทานขนมที่สดใหม่
สำหรับโครงการที่ทาง "ขนมบ้านอัยการ" ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP (สวทช.) ประกอบด้วย "โครงการยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ขนมไทย" อาทิ ขนมเปี๊ยะ จากเดิมที่เก็บในอุณหภูมิปกติได้นาน 7 วัน ปัจจุบันสามารถเก็บได้นานถึง 3 เดือน
"โครงการการออกแบบและสร้างเครื่องมือเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต 3 เครื่อง"
แบ่งเป็น การปรับปรุงเครื่องปั้นไส้ขนมเปี๊ยะ การพัฒนาเครื่องอัดขนมให้เป็นแท่ง เพื่อรองรับการผลิตขนมคุกกี้สูตรใหม่สไตล์ไทยๆ เช่น คุกกี้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจนผลิตไม่ทันกับความต้องการ จากเดิมที่ต้องอาศัยแรงงานคน มีกำลังการผลิตเพียง 2,800 ชิ้น/วัน/คน หลังนำเครื่องฯดังกล่าวมาใช้ สามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาเป็น 7,200 ชิ้น/วัน/คน และ “การพัฒนาเครื่องบรรจุและปิดฝาสำหรับการผลิตน้ำสมุนไพร” ซึ่งจากเดิมใช้แรงงานคน มีกำลังการผลิต 200 แก้ว/วัน/คน หลังใช้เครื่องฯ มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 800 ชิ้น/วัน/คน ตลอดจน
“โครงการการจัดทำระบบการวางแผนและควบคุมการผลิตด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์”
นอกจากนี้ ขนมบ้านอัยการยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดโครงการอื่นๆ เพิ่มขึ้น เพื่อออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งๆ ขึ้น ซึ่งถือเป็นปณิธานของ “ขนมบ้านอัยการ”
สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีหน้าร้านของตนเอง ถือเป็นความได้เปรียบของ “ขนมบ้านอัยการ” เพราะผลิตและจำหน่ายเอง นอกจากนี้ยังส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าต่างชาติ
บริษัท ยู.เอ็ม. ไทร์ดอเตอร์ สวีท จำกัด
32/33 หมู่ 5 ถ.ติวานนท์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
โทรศัพท์ 0 2582-1801-4
โทรสาร 0 2582-1800
http://www.thaicake.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น