โดยประชาชาติธุรกิจ เมื่อ 20 ก.ย.2553
เมื่อสัปดาห์ก่อน "โนเกีย" ผู้ผลิต มือถือเบอร์ 1 ของโลกประกาศ แต่งตั้ง
"สตีเฟน อีล็อป"
ผู้บริหารจากไมโครซอฟท์ ให้นั่งเก้าอี้ซีอีโอคนใหม่ แทนที่ "ออลลี-เพกกา คัลลาสวูโอ" นับตั้งแต่วันที่ 21 กันยายนนี้
แม้การแต่งตั้งครั้งนี้จะสะท้อนว่าโนเกียยอมฉีกประเพณีเดิม ๆ ทิ้ง เพราะ "อีล็อป" ถือเป็นซีอีโอคนแรกที่ไม่ใช่ชาวฟินแลนด์ แต่ก็ยังมีข้อกังขาว่าซีอีโอ คนใหม่มีความเข้าใจธุรกิจมือถือมากเพียงใด เนื่องจากประสบการณ์การทำงาน ของเขาคลุกคลีกับแวดวงซอฟต์แวร์ มาตลอด จึงเป็นโจทย์หินสำหรับบอสใหม่ ที่จะผนึกซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ให้เข้ากันได้อย่างลงตัว ยังไม่นับรวมสารพัดความท้าทายที่โนเกียกำลังเผชิญ ซึ่งล้วนเป็นบททดสอบสำหรับผู้นำคนใหม่
"แมทธิว ลินน์"
ถอดบทเรียนความ ผิดพลาดของโนเกียเผยแพร่ใน "บลูมเบิร์ก" โดยระบุว่า โนเกียเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับบริษัทยุโรปที่จะใช้เป็นบทเรียนทางธุรกิจ ทั้งจังหวะก้าวสู่ยุครุ่งเรืองและก้าวที่ผิดพลาด เพราะในยุค 1990 ยักษ์มือถือรายนี้ประสบความสำเร็จสูงสุด ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีจากยุโรปที่มีขีดความสามารถ ในการแข่งขันสูง และครองตำแหน่งผู้นำตลาดมือถือ แต่พอถึงยุค 2000 โนเกียกลับเป็นบริษัทที่สร้างความผิดหวัง และเดินเข้าสู่ปากเหวของความยากลำบาก ซึ่งบริษัทยุโรปอื่น ๆ ไม่ควรเดินซ้ำรอย
หนึ่งในความผิดพลาดของโนเกียอยู่ที่การวางใจกับชื่อเสียงของตัวเองมาก เกินไป ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจ รวมถึงการปรับโฉมผลิตภัณฑ์ครั้งใหญ่ ขณะที่คู่แข่งกลับพยายามทำสิ่งเหล่านี้
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ข่าวคราวของ โนเกียออกมาไม่ดีสักเท่าไร โดยเฉพาะเมื่อ "แอปเปิล" ออกตัวในฐานะคู่แข่ง ด้วยการส่ง "ไอโฟน" มาสู้ในเดือนมกราคมปี 2550 ราคาหุ้นของโนเกียก็ร่วงลง 47% ขณะที่ แบรนด์โนเกียที่เคยอยู่อันดับต้น ๆ กลับหล่นไปหลายอันดับ ดูอย่างการจัดอันดับ แบรนด์ระดับโลกในปีนี้ของ มิลวาร์ด บราวน์ ออพติเมอร์ แบรนด์โนเกียร่วงลง 30 อันดับในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อยู่ในอันดับที่ 43 ของตาราง หรือการจัดอันดับของ "อินเตอร์แบรนด์" ล่าสุด โนเกียรั้งอันดับ 8 ในปีนี้ หล่นจากอันดับ 5 ในปีที่แล้ว
ถึงแม้โนเกียจะยังครองส่วนแบ่งกว่า 1 ใน 3 ของยอดขายมือถือทั้งโลก แต่ดูเหมือนโนเกียจะติดค้างอยู่ในระดับกลาง ๆ ของตลาด ขณะที่แบรนด์เกาหลีอย่าง "ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์" เป็นผู้นำในตลาดคอนซูเมอร์ ขณะที่ไอโฟนของ "แอปเปิล" และแบล็คเบอร์รี่ของ "รีเสิร์ช อิน โมชั่น" สามารถครองตลาดสมาร์ทโฟนในระดับบน
ความจริงที่โหดร้ายอีกข้อหนึ่ง คือ โนเกียอ่านเกมผิดเกี่ยวกับอุตสาหกรรม มือถือที่ผสมผสานระหว่างคอมพิวเตอร์และเครือข่ายสังคม
3 บทเรียนที่สำคัญสำหรับบริษัทยุโรป ซึ่งอาจเรียนรู้จากโนเกีย คือ
1.อย่าไว้ใจกับชื่อเสียงที่มีอยู่ แม้โนเกียจะก้าวสู่จุดสูงสุดอย่างรวดเร็ว แต่กลับใจเย็นจนกลายเป็นเฉื่อยชา โดยโนเกียมัวแต่กังวลกับส่วนแบ่งตลาด มากกว่าที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มากระชากใจผู้บริโภค
2.โนเกียไม่ยอมท้าทายตัวเอง มัวแต่เกาะเกี่ยวกับมือถือในรูปแบบเดิม ๆ จนละเลยที่จะเพิ่มเติมฟังก์ชั่นใหม่ ๆ อาทิ การเช็กอีเมล์ การค้นหาร้านอาหารใกล้บ้าน และอัพเดตทวิตเตอร์ผ่านมือถือ
3. บทเรียนสุดท้าย โนเกียไม่ได้ตั้ง อยู่ใกล้เคียงกับบริษัทอื่นที่อยู่ในธุรกิจ ใกล้เคียงกัน อาทิ บริษัทเว็บไซต์ หรือ คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้โนเกีย ไม่สามารถผสมผสานไอเดียที่หลากหลายสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
"รอยเตอร์ส" วิเคราะห์ถึงสารพัด ความท้าทายที่โนเกียต้องเร่งฝ่าฟัน โดยเฉพาะการอุดช่องโหว่ในส่วนของ ตลาดไฮเอนด์ เพราะแม้โนเกียจะเป็นผู้นำตลาดมือถือ แต่ยังมีจุดอ่อนในตลาด สมาร์ทโฟน ซึ่งทำให้แอปเปิลโกยเงินไปได้แบบเต็ม ๆ นอกจากนี้ โนเกียยังตามหลังในเทคโนโลยีทัชสกรีนของ แอปเปิล และไม่มีมือถือไฮเอนด์ที่เป็นแม่เหล็กดึงลูกค้าเลยตั้งแต่เปิดตัวรุ่น N95 ในปี 2549
ภารกิจด่วนอีกอย่าง คือ การเร่งเครื่องในตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญ ทั้งที่ ในช่วงปลายยุค 90 โนเกียประสบความ สำเร็จในตลาดสหรัฐ ทั้งในแง่ของรายได้และชื่อเสียงในหมู่ผู้บริโภค แต่ตอนนี้โนเกียเหลือส่วนแบ่งในตลาดนี้ไม่ถึง 10% ตามหลังคู่แข่งทั้งแอปเปิล ซัมซุง และแอลจี นอกจากนี้โนเกียยังดื้อดึงที่จะออกแบบ และขายมือถือโดยไม่พึ่งพาผู้ให้บริการ แม้ว่าเอทีแอนด์ที และเวอริซอน จะเป็นผู้ให้บริการที่มีบทบาทอย่างมากในตลาด มือถือมะกัน
โนเกียยังล้มเหลวที่จะผลักตัวเองเข้าสู่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตที่มีมาร์จิ้นกำไรสูง แต่เว็บไซต์โอวี่ (Ovi) ของโนเกียกลับไม่ได้ดึงดูดจำนวนผู้ใช้มากเท่ากับเว็บของ แอปเปิล รวมทั้งบริษัทเตรียมหยุดป้อน เกมลงบนเครื่อง N-Gage และเตรียมปิดบริการ Ovi Files หรือระบบโอนไฟล์ผ่านคอมพิวเตอร์เข้ามือถือแบบไร้สายตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้
ขณะที่ระบบปฏิบัติการ "แอนดรอยด์" ของค่ายกูเกิลเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระทบ ต่อโนเกีย ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการซิมเบียน มาตลอด เพราะระยะหลัง ๆ ผู้ผลิต สมาร์ทโฟนหลายรายตˆางก็หันมาใช้ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์กันมากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าแอนดรอยด์กำลังได้โมเมนตัมเหนือคู่แข่ง ทั้งค่ายแอปเปิลและรีเสิร์ช อิน โมชั่น
ทั้งนี้ บริษัทวิจัยคานาลิสต์ ประเมินว่า สมาร์ทโฟนที่ใช้แอนดรอยด์เพิ่มขึ้นถึง 886% ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ส่วนไอซัพพลาย คาดว่าแอนดรอยด์จะถูกใช้ในสมาร์ทโฟน 75 ล้านเครื่องภายใน ปี 2555 เพิ่มจาก 5 ล้านเครื่องในปี 2552 เทียบกับระบบปฏิบัติการ iOS ของค่ายแอปเปิลที่จะใช้ในสมาร์ทโฟน 62 ล้านเครื่องภายในปี 2555 เพิ่มจาก 25 ล้านเครื่องในปี 2552
การ์ตเนอร์ประเมินว่า ปีนี้ระบบปฏิบัติการซิมเบียนของโนเกียจะมีส่วนแบ่งตลาด 40.1% และจะลดลงเหลือ 34.2% ในปี 2554 และ 30.2% ในปี 2557 ส่วนแอนดรอยด์จะมีส่วนแบ่ง 17.7% ในปีนี้ และเพิ่มเป็น 22.2% ในปีหน้า และ 29.6% ในปี 2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น