ผักหวานป่า ที่ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี

9.9.53
ผักหวานป่า 

ผักหวานป่า เป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากเป็นที่รู้จักและเป็นที่กล่าวขานของคนทั่วไป ผักหวานป่า เป็นพืชในวงศ์ “Opilaceae” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Melientha Sauvis” เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางมีอยู่ในป่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีขึ้นอยู่เกือบทุกภาคของประเทศไทย เช่น ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตาก เชียงราย ภาคกลางในเขตจังหวัดลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี และภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดเป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคโดยทั่วไป เพราะมีรสชาติ หวานมัน กรอบ อร่อย ในหนึ่งปีจะหารับประทานได้เพียงฤดูเดียว คือ ช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคม 

เดิมผักหวานป่าเป็นผักพื้นบ้านที่ขึ้นอยู่ตามแหล่งธรรมชาติในท้องถิ่น แต่ปัจจุบันด้วยภูมิปัญญาของเกษตรกร อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ผักหวานป่าได้ถูกพัฒนาด้านการขยายพันธุ์จนประสบความสำเร็จ จึงได้นำต้นกล้ามาปลูกขยายพันธุ์ที่แบบสภาพไร่ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ผักหวานป่าที่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ได้รับการอนุรักษ์จากบรรพบุรุษหลายชั่ว อายุคน ซึ่งพบว่ามีต้นผักหวานป่าที่มีอายุมากกว่า 100 ปี อยู่ที่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี 

จากการสำรวจเมื่อปี 2544 มีพื้นที่ปลูกประมาณ 500 ไร่เศษเท่านั้น แต่เมื่อความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านหมอ จึงได้ทำการส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกผักหวานป่า จนในปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกประมาณ 1,091 ไร่ เกษตรกรประมาณ 341 ครัวเรือน ในตำบลสร่างโศก ตำบลหนองบัว ตำบลบางโขมด ตำบลตลาดน้อย ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมีปริมาณมากในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ของทุกปี ส่วนเดือนอื่น ๆ มีผลผลิตออกสู่ตลาดเพียงเล็กน้อยผลผลิตต่อไร่ ประมาณ 300 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับอายุและขนาด ของลำต้น) ผลผลิตรวมใน 2547 ประมาณ 327 ตัน มูลค่าผลผลิตประมาณ 20 ล้านบาท ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งปี ประมาณ 60 บาท/กิโลกรัม 

นอกจากนี้เกษตรกรยังมีรายได้จากการเพาะต้นกล้าจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจจะปลูกผักหวานป่าทั่วประเทศ ปีละประมาณ 5 ล้านบาท ฉะนั้นรายได้ที่เกิดขึ้นจาการจำหน่ายยอดผักหวานป่าและต้นกล้าผักหวานป่าเข้าสู่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ปีละประมาณ 25 ล้านบาท 

นอกจากนี้อำเภอบ้านหมอ ยังได้ส่งเสริมให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผักหวานป่า ให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่นน้ำผักหวานป่า ไวน์ผักหวานป่า ชาผักหวานป่า เป็นต้น ผักหวานป่า เป็นผักที่ให้โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามินบี 2 ผู้ที่ขาดวิตามินบี 2 จะทำให้เป็นโรคปากเปื่อย (ปากนกกระจอก) หรือถ้าขาดในวัยเด็กจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตและแคระแกรนได้ 

นอกจากนั้นยังเป็นสมุนไพรโดยสามารถแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ต้มดื่มเป็นยาลดไข้ และช่วยในการขับถ่ายได้ดี ผักหวานป่า เป็นผักปลอดสารพิษโดยธรรมชาติอย่างน่ามหัศจรรย์ แมลงศัตรูพืชต่างๆแม้แต่หนอนต่างๆ ที่ชอบกินยอดอ่อนของพืชจะไม่กินใบของผักหวานป่า ทั้งที่แตกยอดอ่อนๆ เนื่องจากมีสารชนิดหนึ่งในใบของผักหวานป่า เช่นเดียวกับ สะเดา จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีใดๆ มาฉีดพ่น นอกจากนั้น แล้วต้นผักหวานป่าเองหากจะเร่งให้เจริญเติบโตเกษตรกรจะนิยมใส่ปุ๋ยคอก (มูลสัตว์) 

การขยายพันธุ์ผักหวานป่ามีวีธีที่ดีที่สุดคือ เพาะด้วยเมล็ด มีคนเคยทดลองขุดผักหวานมาจากป่าแล้วนำมาปลูกซึ่งจะเจริญเติบโตได้ประมาณ 2-3 ปี แล้วก็ตาย พบสาเหตุว่าต้นที่ขุดแยกออกมาปลูกไม่มีรากแก้ว เป็นส่วนสำคัญยิ่งของต้นไม้ยืนต้น ซึ่งคำกล่าวนี้ก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด 

ชาวสวนผักหวานป่ากำลังคิดค้นกันอยู่สำหรับการขยายพันธุ์โดยวิธีปักชำ การตอนกิ่ง อยู่ระหว่างการดำเนินการทดลอง ไม่ทราบว่าจะได้ผลดีกว่าการปลูกเช่นเดียวกับเมล็ดหรือไม่อย่างไรสำหรับการปลูกด้วยเมล็ดเกษตรกรต้องสร้างสวนป่าขึ้นก่อนโดยการปลูกต้นไม้โตเร็ว เช่น มะขามเปรี้ยว, มะรุม, มะขามเทศ เพื่อให้เกิดร่มเงาหรือมีแสงแดดรำไร เพราะต้นผักหวานป่าไม่ชอบแสงแดดจัดจนเกินไป พออายุได้ 3 ปี ก็เริ่มจะเก็บใบอ่อนไปรับประทานได้ 

ตลาดจำหน่ายผักหวานป่า ได้แก่

-ตลาดท้องถิ่น
- ตลาดต่างจังหวัด เช่น อ่างทอง ลพบุรี นครสวรรค์ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา
- ตลาดกลาง เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง เพื่อส่งต่อไปยังตลาดในกรุงเทพมหานคร ต่อไป

ตลาดต่างประเทศ

มีผู้ส่งออกรับซื้อจากเกษตรกร เพื่อบรรจุส่งออกต่างประเทส เช่น สิงค์โปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เป็นต้น

การลงทุนและผลตอบแทน

ต้นทุนการผลิตผักหวานป่าค่อนข้างต่ำ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการลงทุนในการปลูกผัก พื้นบ้านชนิดอื่น ๆ แต่ผลตอบแทนจะดีกว่าเนื่องจากผักหวานป่าปลูกเพียงครั้งเดียวก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เป็นร้อย ๆ ปี จนชั่วลูก ชั่วหลาน และราคาที่เกษตรกรจำหน่ายได้ค่อนข้างจะสูงกว่าผักพื้นบ้านแทบทุกชนิด

ต้นทุกการผลิตและผลตอบแทน

ต้นทุกการผลิตทั้งหมด 3,750 บาท/ไร่ ดังนี้
-ค่าปุ๋ยหมัก/ ปุ๋ยคอก 1,000 บาท/ไร่
-ผลผลิตเฉลี่ย 300 กิโลกรัม/ไร่/ปี
-ราคาที่เกษตรกรขายโดยเฉลี่ย 60 บาท/กิโลกรัม
-รายได้ร่วม 18,000 บาท/ไร่/ปี
-รายได้สุทธิ 14,250 บาท/ไร่/ปี

ด้านการตลาดผักหวานป่าหากเป็นแหล่งผลิตเชิงการค้าทั่ว ๆ ไป จะมีพ่อค้าคนกลางไปรับซื้อถึงสวนโดยจ่ายเงินสด แล้วจึงส่งไปขายต่อยังตลาดใหญ่ ๆ ที่สำคัญอีกต่อหนึ่ง หรือส่งต่อให้ผู้ส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทสหรือส่งเข้าจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต หากเป็นผลผลิตผักหวานป่าในฤดูที่เก็บหาได้จากแหล่งธรรมชาติส่วนใหญ่ผู้ไปเก็บหาจะนำมาวางจำหน่ายในตลาดในท้องถิ่น หรืออาจมีพ่อค้าคนกลางมารับไปขายอีกทอดหนึ่ง

วัตถุประสงค์ของการจัดงาน

1. เพื่อเป็นการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
2. เพื่อเป็นการอนุรักษ์ พรรณพืชผักพื้นบ้านมิให้สูญไปจากประเทศไทย
3. เพื่อเป็นการส่งเสริมสร้างสวนป่าชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดความชุมชื้นขึ้นในท้องถิ่น
4. เพื่อเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรที่ยั่งยืน
5. เพื่อเป็นการรณรงค์ ให้คนไทยหันมานิยมบริโภคผักพื้นบ้านที่ปลอดภัยจากสารพิษ

ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี โทร. 0-36201-1137


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น