10 เทคโนโลยีน่าจับตาสำหรับธุรกิจอนาคต

9.11.53
โดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 21 กันยายน 2553

ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.วิเคราะห์ 10 เทคโนโลยีเด่นแห่งอนาคต ที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ตรงเป้าที่สุด และเอกชนต้องจับตา

ในงาน NSTDA Investors’ Day ประจำปี 2553 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

กล่าวว่า อนาคตนวัตกรรมและธุรกิจที่เกิดขึ้นจะเป็นการนำองค์ความรู้จากหลายสาขามาหลอมรวมกันเป็นหนึ่งนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้พื้นฐานความรู้และความคุ้มค่าในการลงทุน

“ศาสตร์ที่น่าจะมีประสิทธิภาพสูงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศเทคโนโลยีทางชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี และศาสตร์ของการรับรู้ เพราะทุกสาขามีความเกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมีผลต่อการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของประเทศในอนาคตโดยตรง”ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าว

1. เทคโนโลยีแรกที่น่าจับตาได้แก่ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเพื่อการสื่อสาร 

เพราะอินเทอร์เน็ตสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่บนคอมพิวเตอร์อย่างเดียวอีกต่อไป แต่สามารถแฝงตัวอยู่ได้ในทุกที่ตามที่เราต้องการ

อนาคตเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเพื่อการสื่อสารสามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีเข้ามาช่วย เช่น ระบบสื่อสารระหว่างยานพาหนะ ระบบการขนส่งที่มีอาร์เอฟไอดีในการเก็บข้อมูล เป็นต้น โดยประโยชน์ที่เกิดคือความสะดวกในการติดตามหรือหาตำแหน่งคนและสิ่งของได้อย่างแม่นยำ

2. หุ่นยนต์จักรกลบริการ 

เป็นอีกหนึ่งธุรกิจรองลงมาที่น่าจับตาไม่แพ้กัน เพราะทุกวันนี้ในหลายประเทศมีการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อทดแทนแรงงานคน อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่นที่มีการพัฒนาหุ่นยนต์รับใช้ในบ้าน หุ่นยนต์เพื่อความบันเทิงมากขึ้น

จักรกลบริการเป็นอุปกรณ์เคลื่อนไหวได้ ที่มีโปรแกรมรับรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบตัวโดยอาศัยเซ็นเซอร์และทำงานได้เองอัตโนมัติ ซึ่งสำหรับประเทศไทยที่มีให้เห็นในรูปของหุ่นยนต์กู้ระเบิด แขนกลในอุตสาหกรรมที่ทดแทนแรงงานคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ธุรกิจน่าจับตาอันดับต่อมาเป็นเส้นใยสังเคราะห์แบบผสม 

ที่จะเติมเต็มให้งานก่อสร้างอาคารในอนาคตเป็นงานที่ง่ายยิ่งขึ้น โดยเป็นการนำปัญหาเดิมเวลาสร้างบ้านที่ต้องใช้ทั้งเหล็กและคอนกรีตเพื่อให้บ้านแข็งแรง

ปรับแนวคิดด้วยการย่อส่วนจากเหล็กและคอนกรีต ออกแบบใหม่โดยใช้เส้นใยสังเคราะห์แบบผสม ที่มีโครงสร้างเส้นใยลักษณะนุ่มคล้ายกับเส้นไหมคล้ายกับขดสปริงแต่มีความยืดหยุ่นสูง ทำความสะอาดง่าย ทั้งยังสามารถละลายเชื่อมติดกันที่จุดหลอมเหลวต่ำ ทดแทนวัสดุเหล็กในอนาคต เพื่อลดการใช้วัสดุเหล็กในอนาคต

4. วัสดุอัจฉริยะ 

เป็นอีกธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต อย่างเช่น คอนกรีตทำความสะอาดตัวเองได้เพื่อยืดอายุการซ่อมบำรุง เทคนิคดังกล่าวเป็นการนำไททาเนียมไดออกไซด์มาใช้เป็นส่วนผสมกับคอนกรีต หลักการคือไททาเนียมไดออกไซด์เมื่อถูกแสงอัลตร้าไวโอเลตจะปลดปล่อยอนุมูลอิสระและย่อยสารสลายอินทรีย์หรือคราบต่างๆ นอกจากนี้ยังมีกระจกเคลือบแอโรเจลป้องกันความร้อนที่จะได้รับความนิยมมากขึ้น

5. แผ่นอิเล็กทรอนิกส์พิมพ์ได้ ที่ช่วยให้การพิมพ์แผ่นวงจรง่ายขึ้นสำหรับใช้งานที่บ้านหรือจุดขายสินค้า 

จากเดิมที่เป็นแบบแผ่นแข็งสำเร็จรูปพร้อมใช้งานออกมาจากอุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่งประโยชน์ที่ได้จากเทคโนโลยีดังกล่าวคือลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบเดิม

6. เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดโค้งงอได้ 

เป็นอีกความก้าวหน้าที่จะทำให้การผลิตพลังงานในอนาคตง่ายขึ้น โดยลักษณะที่ออกมาฐานของนวัตกรรมจะโค้งงอได้ และเคลือบด้วยเซลล์ชนิดฟิล์มบาง ซึ่งมีน้ำหนักเบา ขนาดบาง ยืดหยุ่นและติดตั้งได้ในทุกที่เมื่อผลิตไฟฟ้าเสร็จก็ม้วนเก็บเข้าที่ได้ ซึ่งในหลายประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนา

7. พลังงานจากสาหร่าย 

เป็นอีกพลังงานทางเลือกหนึ่งที่ดูจะมีอนาคตไม่แพ้กัน เพราะใช้เวลาในการเติบโตสั้นเพียง 24 ชั่วโมง และใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อย สามารถแปรรูปเป็นไบโอดีเซลและไบโอเอทานอล ซึ่งอนาคตอาจมีการวิจัยปรับเปลี่ยนพันธุกรรมให้สาหร่ายและแบคทีเรียเป็นโรงงานขนาดย่อมในการรับแสงและเปลี่ยนเป็นตัวมันเองเป็นน้ำมัน

ผลผลิตจากสาหร่ายที่ได้ให้น้ำมันมากกว่าปาล์มน้ำมัน 60 เท่าในพื้นที่ปลูกที่เท่ากัน ซึ่งกากที่เหลือยังสามารถนำมาหมุนเวียนผลิตน้ำมัน สกัดเป็นอาหารเสริมหรือยา ที่สร้างอาชีพและมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรไทย

8. รถพลังงานไฟฟ้า

เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่หลายคนต้องตามดู เนื่องจากทุกวันนี้นักวิจัยไทยได้พัฒนาพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นมามากมาย โดยรถที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงจากไฮโดเจนก็เป็นหนึ่งในนั้นแต่ยังมีเสียงต่อต้านอยู่เป็นจำนวนมากในเรื่องของความปลอดภัยและการนำมาใช้งานได้จริง

โจทย์การวิจัยในอนาคตเกี่ยวกับยานพาหนะจะเน้นในเรื่องการพัฒนาพลังงานของรถที่มีน้ำหนักเบา ความปลอดภัยสูง และอายุการใช้งานของรถที่ยืนยาว ซึ่งผลที่ได้ภายภาคหน้าเราอาจมีสถานี ประจุไฟฟ้าที่สามารถชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว และโยงไปถึงการออกแบบเมืองใหม่ที่สอดรับกัน ด้านการติดตั้งปลั๊กไฟรองรับไปทั่วเมืองเพื่อให้ประชาชนได้ใช้พลังงานสะอาดอย่างทั่วถึง

9. ความก้าวหน้าด้านเภสัชพันธุศาสตร์ 

ซึ่งเป็นผลจากการสร้างฐานความรู้เกี่ยวกับพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตมากมายที่มีอยู่บนโลก รวมถึงในร่างกายแต่ละคน โดยสิ่งที่น่าจับตาเป็นการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ในการประมวลผลเกี่ยวกับพันธุกรรม เพื่อให้การรักษาทางการแพทย์เลือกใช้ยาที่เหมาะกับคนไข้แต่ละคนได้อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็งที่คนไข้มีรูปแบบการตอบสนองต่อยาที่หลากหลาย

เทคโนโลยีที่น่าจับตาเรื่องเด่นท้ายสุดเป็นเรื่อง

10. ความก้าวหน้าด้านชีววิทยา 

ในเรื่องการรักษาหรือปลูกถ่ายอวัยวะจากสเต็มเซลล์ ไขกระดูก สายสะดือ ซึ่งปัจจุบันมีการทดลองนำสเต็มเซลล์จากสายสะดือมารักษาโรคเบาหวาน ซ่อมแซมกล้ามเนื้อหัวใจ และซ่อมแซมสมองส่วนที่เสียหาย ทำให้อุตสาหกรรมบริการเก็บรักษาเซลล์ต้นกำเนิดในประเทศไทยเกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น