ห้องประชุมเสมือนจริงลดค่าใช้จ่ายที่พัก-เดินทาง

7.11.53
โดยคมชัดลึก เมื่อ 7 พ.ย.2553

ถ้าพูดถึงประชุมทางไกล ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้วสำหรับคนไทย หลังจากบางคน "โฟนอิน" มาปลุกขวัญกำลังใจชาวเสื้อแดง หรือย้อนกลับไปยุค "แคมฟร็อก" โชว์สยิวก็ใช่

หัวใจสำคัญที่ทำให้การประชุมทางไกลเห็นหน้าค่าตา แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ราวกับอยู่ห้องเดียวกันคือ ความเร็วอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ทำให้การรับส่งข้อมูลภาพและเสียงข้ามทวีปข้ามขอบฟ้าทำได้ไร้ขีดจำกัด

ปัจจุบันเทคโนโลยีประชุมทางไกลพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นทำให้มีความใกล้ชิดเสมือนจริงราวกับว่านั่งอยู่ในห้องเดียวกัน หรือเรียกว่า

เทเลพรีเซนต์ (Telepresence) 

จากเดิมที่มองเห็นหน้ากันตัวต่อตัว แต่เทคโนโลยีเทเลพรีเซนต์เห็นหน้าผู้เข้าร่วมประชุมกันทั้งทีม ผ่านจอแอลซีดีขนาดใหญ่ให้ความสมจริงในด้านขนาดตัว นี่ถ้าเป็นทีวีสามมิติสวมแว่นพิเศษดูคงนึกว่าอยู่ห้องเดียวกันแน่นอน

นายศิริวัฒน์ วงส์จารุกร กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เอ็มเอฟอีซี จำกัด (มหาชน) 

ผู้นำการติดตั้งโซลูชั่นด้านไอซีทีให้องค์กรธุรกิจ เล่าเบื้องหลังของเทเลพรีเซนต์ว่า เป็นระบบที่พัฒนาโดยบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ จำกัด ซึ่งนำเทคโนโลยีมัลติมีเดียทั้งด้านภาพและเสียงเสมือนจริงด้วยภาพความละเอียดสูง หรือ HD มาประยุกต์ให้ใช้งานง่าย สามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบประชุมทางไกลแบบเดิมได้เลย

แม้ค่าใช้จ่ายสำหรับประชุมในรูปแบบเทเลพรีเซนต์สูงถึง 2 หมื่นบาทต่อครั้ง

สำหรับห้องประชุมในบางประเทศ แต่เมื่อเทียบกับประโยชน์และค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้วถือว่าคุ้มค่า

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ 

บริษัท พีทีที ไอซีที โซลูชั่นส์ จำกัด (PTT ICT) บริษัท ภายใต้กลุ่ม ปตท. 

ตัดสินใจนำเข้าระบบ เทเลพรีเซนต์ มาติดตั้งที่ประเทศไทยเป็นหน่วยงานแรก โดยหวังที่จะใช้เสริมศักยภาพของธุรกิจ

สำหรับประเทศไทย ระบบเทเลพรีเซนต์ถูกติดตั้งและทดลองใช้งานจริงเป็นครั้งแรกที่อาคารบี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ปตท. สำนักงานใหญ่วิภาวดี เชื่อมต่อกับบริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอนวิรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของปตท. ตั้งอยู่ที่มาบตาพุด จ.ระยอง ระยะทางห่างกัน 180 กิโลเมตร ปตท. มองว่าระบบช่วยลดค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงในการเดินทางได้ ทั้งการประชุมในประเทศ ซึ่งปตท. มีบริษัทในกลุ่มมากถึง 45 บริษัท และยังมีสาขาอยู่ในต่างประเทศเช่น สิงคโปร์ และออสเตรเลีย

ค่าใช้จ่ายการให้บริการยังขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการใช้งาน เพราะนอกจากเงินลงทุนในการติดตั้งฮาร์ดแวร์แล้ว ในส่วนภาคการสื่อสารอาจจะต้องขยายมากขึ้น จากเดิมที่ใช้วิธีการส่งข้อมูลผ่านสายไฟเบอร์ออพติก ของ ปตท. เอง อาจจะต้องร่วมมือกับ โกลบอล พาร์ทเนอร์ อย่าง ทาทา คอมมิวนิเคชั่นส์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต อินเตอร์เนชั่นแนล ลิงก์ ซึ่งคาดว่าจะให้บริการได้ในปี 2554

“ในระยะยาว ปตท. เตรียมเปิดให้บริการกับบริษัทภายนอกที่สนใจ โดยสามารถเชื่อมต่อเข้ากับห้องประชุมที่ใช้ระบบเดียวกัน ซึ่งมีอยู่ทั่วโลกได้อย่างไม่มีข้อจำกัด” นายสุทัต วงษ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการสายงานโซลูชั่นแอนด์คอนซัลติ้ง เดลิเวอรี บริษัทพีทีที ไอซีที โซลูชั่นส์ จำกัด กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น