นักออกแบบชาวฝรั่งเศสสร้างแบรนด์ เมซุง ทาคุยะ ในประเทศไทย

12.11.56
 
 
โดยแนวหน้า เมื่อ 27 พ.ค.2556

บินลัดฟ้าไปไกลถึงเชียงใหม่ เพื่อไปเยี่ยมชมโรงผลิตเครื่องหนังแบรนด์ลักชัวรี่แห่งเดียวในเอเชีย  อย่าง “เมซง ทาคุยะ” (Maison  Takuya) พร้อมพูดคุยกับ

มร.ฟรองซัวส์  รุสโซ  ผู้ก่อตั้ง และดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส  

แบบเป็นกันเอง ณ บริษัททาคุยะ จำกัด

มร.ฟรองซัวส์  รุสโซ  ชาวฝรั่งเศส อายุ 46 ปี เล่าถึงการก่อตั้งแบรนด์  “เมซง ทาคุยะ” ว่า  มีความฝันที่จะผลิตกระเป๋าหนังชั้นเลิศ ที่ใช้ฝีมือจริงๆ แต่มีคุณภาพระดับโลก จึงย้ายจากฝรั่งเศสมาอยู่ที่ประเทศไทยในปี ค.ศ.2007 ซึ่งตอนนั้นมองว่าผลงานและคุณภาพในการผลิตแบรนด์เครื่องหนัง ทั้งทางยุโรป อิตาลี ฝรั่งเศส  คุณภาพเริ่มลดน้อยลง  ในขณะที่โซนเอเชีย ศิลปะในการผลิตที่ใช้ฝีมือยังคงมีให้เห็นอยู่ และยังจะมีเพิ่มขึ้นด้วย

มร.ฟรองซัวส์  รุสโซ   ผู้ก่อตั้ง และดีไซเนอร์ แบรนด์เครื่องหนังลักชัวรี่ “เมซง ทาคุยะ”

และเล็งเห็นว่าทวีปที่จะเป็นจุดศูนย์กลางของลักชัวรี่อันใหม่ คือทวีปเอเชีย โดยเปรียบเทียบกับยุโรปในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคที่ยุโรปกำลังพัฒนา และในยุคนี้ก็เป็นยุคที่เอเชียกำลังพัฒนา

“ผมต้องการสร้างนิวลักชัวรี่ขึ้นมาในทวีปเอเชีย โดยเลือกประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลาง  เพราะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร  และไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร หรือมีอิทธิพลจากประเทศอื่นๆ เข้ามาแทรกแซง  ด้วยความเป็นสายเลือดไทย และความเป็นตัวตนจะเพิ่มขึ้น   ทำให้การพัฒนาไปได้อย่างง่าย  และความสามารถของคนไทยในการทำหัตถศิลป์มันอยู่ในสายเลือด และมีความละเอียดอ่อน ทำให้ตัดสินใจ และเริ่มต้นในการสร้างแบรนด์  เมซง ทาคุยะ ขึ้นที่เมืองไทย”

ในช่วงก่อตั้งเแบรนด์  “เมซง ทาคุยะ”  เริ่มผลิตเครื่องหนังอยู่ที่กรงุเทพฯ  มีพนักงานไม่กี่คน  พอถึงจุดหนึ่งมีพนักงาน 40 -50 คน จึงเริ่มขยับขยายและมาลงตัวที่จังหวัดเชียงใหม่  ปัจจุบันมีพนักงาน 160 กว่าคนแล้ว  แต่กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย  เพราะถึงแม้ช่างไทยจะมีฝีมือเก่งก็จริง  แต่ก็ไม่ได้มีชำนาญเฉพาะทาง  จึงต้องหาช่างจากต่างประเทศมาช่วยฝึกฝน  ซึ่งก็ใช้เวลานานนับปี   ในช่วงนั้นรู้สึกท้อ มีแต่เรื่องติดขัดตลอด  แต่ก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ  มาได้จนถึงทุกวันนี้

ทั้งนี้  มร.ฟรองซัวส์  รุสโซ  มองว่า ลักชัวรี่ แยกเป็น 2 กลุ่ม   โดยกลุ่มแรก เป็นกลุ่มของเทคนิค เช่น นาฬิกา  ซึ่งการประดิษฐ์นาฬิกา ถ้ามีเทคนิคใหม่ๆ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ  จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้การบอกเวลาแน่นอนมากขึ้น   อีกกลุ่มหนึ่งของสินค้าลักชัวรี่ที่ดี คือ ต้องอาศัยช่างฝีมือประดิษฐ์แบบแฮนด์เมด ซึ่งมีการแยกกันสิ้นเชิงในเรื่องของเทคโนโลยี   เพราะฉะนั้น ลักชัวรี่ที่ดี  จะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี เมื่อมีการผสมผสานนวัตกรรมใหม่ๆ แล้ว ก็จะส่งผลดีให้กับสินค้านั้นๆ

ลักชัวรี่ที่ดีอีกกลุ่มหนึ่ง จะเป็นสินค้าเครื่องหนัง คือ ผลิตจากโรงงาน หรือผลิตจากเครื่องจักร แทนที่จะเป็นสิ่งที่ดี แต่กลายเป็นสิ่งที่ไม่ดี อย่างเช่น แบรนด์เนมต่างๆ  ที่เขาต้องการตอบสนองกับความต้องการของตลาด  จึงมียอดการผลิตสูง โดยใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยผลิต  ทำให้คุณภาพตกต่ำลง

ฝีมือช่างไทย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการผลิตแบรนด์เครื่องหนังลักชัวรี่ “เมซง ทาคุยะ” ส่งขายไปทั่วโลก

จุดเด่นและเทคนิคของการผลิตเครื่องหนัง “เมซง ทาคุยะ” มร.ฟรองซัวส์  รุสโซ  เล่าว่า  การผลิตจะเหมือนสมัยก่อน  ซึ่งกระเป๋าหนึ่งใบจะใช้เวลาในการผลิต 40 -50 ชั่วโมง เนื่องจากคนๆ เดียวไม่สามารถทำทุกขั้นตอนได้ งานจะออกมาไม่สมบูรณ์  โดยจะแบ่งแผนกไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่การเลือกหนัง ตัดหนัง  เย็บหนัง ทายาหนังเพื่อประกอบเป็นกระเป๋า  ซึ่งทุกๆ ขั้นตอนจะใช้มือทำหมด  ส่วนในเรื่องของหนังที่นำมาทำเป็นกระเป๋า และแอ็คเซสเซอรี่ นั้น จะเน้นที่คุณภาพของหนังเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งหนังหนึ่งผืนจะถูกใช้สำหรับกระเป๋าหนึ่งใบเท่านั้น    และหนังทุกผืนที่นำมาผลิตจะไม่มี อยแมลงกัด ไม่มีรอยขีดข่วน หรือแม้แต่การใช้หนังเทียม และหนังพิมพ์ลายกับสินค้าทุกชนิดอีกด้วย

ส่วนหนังที่นำมาผลิต  มีทั้งหนังจระเข้จากแอฟริกาและสิงคโปร์ ซึ่งคุณภาพหนังดีมาก, หนังนกกระจอกเทศ จากยุโรป, หนังลูกวัว ซึ่งแอร์เมส จัดหามาให้ นอกจากนี้ ยังมีหนังช้าง, หนังแกะ, หนังงู และหนังฉลาม โดยมีวางจำหน่ายตามร้านดังๆ  19 ประเทศ ทั่วโลก อาทิ  Bergdorf Goodman ที่ นิวยอร์ค , Isetan ที่ ชินจูกุ โตเกียว, Collete ที่ ปารีส และ  Shinsagae ที่ โซล รวมไปถึง ประเทศฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, จีน, ฝรั่งเศส, สเปน, เยอรมัน เป็นต้น

“พื้นฐานของแบรนด์  เมซง ทาคุยะ ต้องเนี้ยบ มีทิศทางการออกแบบที่ชัดเจน  และโครงสร้างของตัวแบรนด์ต้องชัดเจน  ต้องเป๊ะ และคอนเซ็ปต์ของแบรนด์นี้ขึ้นอยุ่กับวัตถุดิบ และการใช้งาน ไม่อิงกับคอลเลคชั่น เพราะกระเป๋าควรอยู่กับเราให้นานที่สุด ไม่ควรใช้ตามสมัย หรือตามเทรนด์   แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปทรงเป็นบางครั้ง  หรือมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของหนั, สี และเทคนิคใหม่ๆ “มร.ฟรองซัวส์  รุสโซ  ทิ้งท้าย

สำหรับคนไทยไม่ต้องน้อยใจที่ยังไม่มีร้านวางจำหน่ายเครื่องหนัง เมซง ทาคุยะ อย่างเป็นทางการ มร.ฟรองซัวส์  รุสโซ  บอกว่า อีกไม่นานเกินรอจะได้สัมผัสกระเป๋าและแอ็คเซสเซอรี่ ของเขาอย่างแน่นอน  แต่ก็สามารถสั่งออเดอร์ ได้ที่ www. maisontakuya.com 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น