2 พ่อลูกคว้ารางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น” จากผลงาน “รถตัดอ้อย”

11.10.56
โดยผู้จัดการ เมื่อ 9 ต.ค.2556

2 พ่อลูกคว้ารางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น” จากผลงาน “รถตัดอ้อย”เทคโนโลยีเครื่องจักรกลหนักที่มีกระบะบรรจุท่อนอ้อยเป็นรายแรกของโลก และทำงานแบบอัตโนมัติ แต่ราคาถูกกว่าเครื่องจักรนำเข้าถึง 50% รับรางวัลพร้อมทีมพัฒนาเทคโนโลยีจีโนมที่ใช้ควบคุมคุณภาพสินค้าส่งออกและปรับปรุงพันธุ์พืช

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศมอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2556 ให้แก่นักเทคโนโลยี 2 ทีม ได้แก่ ทีมจากห้างหุ้นส่วนจำกัด สามารถเกษตรยนต์ ซึ่งผลิตและออกแบบรถตัดอ้อยที่มีกระบะบรรจุท่อนอ้อยทำงานแบบอัตโนมัติ และทีม ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการสถาบันจีโนมอห่งชาติ พร้อมคณะ

ในส่วนของทีมห้างหุ้นส่วนจำกัด สามารถเกษตรยนต์ ได้แก่ นายสามารถ ลี้ธีระนานนท์ หุ้นส่วนผู้จัดการ และ นายวิทูร ลี้ธีระนานนท์ วิศวกร ซึ่งเป็นพ่อลูกกัน และได้ออกแบบและควบคุมการผลิตรถตัดอ้อยที่มีกระบะบรรจุท่อนอ้อยทำงานแบบอัตโนมัติเป็นรายแรกของโลก

นายสามารถกล่าวระหว่างการแถลงข่าวประกาศมอบรางวัลเมื่อวันที่ 9 ต.ค.56 ณ โรงพูลแมน รางน้ำ คิงพาวเวอร์ ว่ามีแนวคิดในการพัฒนารถตัดอ้อยขึ้นมา เนื่องจากเห็นถึงปัญหาในการตัดอ้อยของชาวไร่ ซึ่งปกติจะระดมแรงงานในหมู่บ้านไปช่วยกันตัด และมักเผาไร่อ้อยเพื่อช่วยให้ตัดง่ายและตัดอ้อยได้มากขึ้น แต่ก่อให้เกิดมลภาวะที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และยังส่งผลกระทบต่อทางเดินหายใจ

ทางห้างหุ้นส่วนได้พัฒนารถตัดอ้อยอย่างต่อเนื่องมาหลายรุ่นตั้งแต่ปี 2541 จนกระทั่งได้รถตัดอ้อยที่มีกระบะบรรจุท่อนอ้อย ซึ่งยังไม่มีผู้ผลิตรายใดในโลกผลิตขึ้น และมีกลไกที่สามารถตัดโคนอ้อย และสับท่อนอ้อยได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งจดอนุสิทธิบัตร “กลไกชุดเก็บเกี่ยวในรถตัดอ้อย” เมื่อ 19 พ.ย.55 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันได้ส่งออกรถตัดอ้อยไปยังบราซิล อินโดนีเซีย อินเดีย และกัมพูชาด้วย โดยราคาจำหน่ายของรถตัดอ้อยดังกล่าวถูกกว่าเครื่องจักรนำเข้าถึง 50%

ส่วนทีม ดร.สมวงษ์นั้นได้รับรางวัลพร้อมคณะจากห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จากการใช้เทคโนโลยีฐานจีโนมิกส์กับการตรวจสอบจีโนมอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยควบคุมคุณภาพสินค้าในการส่งออกอาหารและการปรับปรุงพันธุ์พืช

นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ ยังมอบรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2556 แก่ ดร.บุญรัตน์ โล่วงศ์วัฒน จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมโลหะ ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิสวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการออกแบบวัสดุโดยใช้หลักการทางอุณหพลศาสตร์และการปรับปรุงโครงสร้างเชิงโลหะวิทยา เพื่อพัฒนาระบบโลหะผสมและคิดค้นเทคนิคการผลิตใหม่ สำหรับอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับไทย และยังพัฒนาโลหะผสมทองคำ 18k ที่สามารถขึ้นรูปได้เหมือนพลาสติก สำหรับการผลิตชิ้นงานเครื่องประดับที่เน้นปริมาณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น