ปตท.หนุน 140 ล้านบาทวิจัยคัดพันธุ์สาหร่ายน้ำมัน

12.2.54
โดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 11 ก.พ.2554

วว.ประสบความสำเร็จใช้เทคนิคย้อมสี คัดสาหร่ายผลิตน้ำมัน 40 สายพันธุ์เด่น ปตท.หนุนขยายผล 140 ล้านบาท

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) 

ประสบความสำเร็จใช้เทคนิคย้อมสี คัดสาหร่ายผลิตน้ำมัน 40 สายพันธุ์เด่น ปตท.หนุนขยายผล 140 ล้านบาท เห็นพลังงานทดแทนจากสาหร่ายในใช้จริง 5 ปี

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ทีมวิจัย วว. ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาเทคนิคย้อมสีไนล์ เรด เพื่อใช้คัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายที่ให้ปริมาณน้ำมันสูง ช่วยร่นระเวลาการวิจัยจากเดิมที่คัดเลือกได้ 50 สายพันธุ์ เป็น 100 สายพันธุ์

ผลจากการพัฒนาเทคนิคดังกล่าว นำมาสู่การคัดเลือกสาหร่าย 40 สายพันธุ์เด่น ที่เหมาะแก่การขยายพันธุ์และนำไปผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต โดย วว. ได้เดินหน้าจัดเก็บสายพันธุ์สาหร่ายมากว่า 20 ปี ทำให้มีคลังสายพันธุ์สาหร่ายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและจีน

"สาหร่ายเป็นพืชพลังงานที่มีความน่าสนใจไม่แพ้ ปาล์ม อ้อย และมันสำปะหลัง เนื่องจากมีศักยภาพในการผลิตน้ำมันเช่นกัน เพียงแต่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เพื่อลดต้นทุนและสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้" ดร.วีระชัย กล่าวและว่าเทคนิคการย้อมสีที่นักวิจัยพัฒนาขึ้นสามารถใช้ทดแทนเทคนิคเดิม หรือการนำคอลโรฟอร์มของเมธานอลมาใช้ในขั้นตอนการสกัด ซึ่งข้อดีคือสามารถสกัดสาหร่ายใด้ในปริมาณมาก รวมถึงวัดปริมาณน้ำมัน และดูมีคุณสมบัติที่ต้องการได้ทันที

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ ได้ทำงานร่วมกันสถาบันวิจัย ปตท. ซึ่งมีศักยภาพด้านการผลิตพร้อมทั้งสนับสนุนทุนวิจัย 140 ล้านบาทในระยะเวลา 7 ปี (2551-2558)

ดร.กันย์ กังวานสายชล นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงทางเลือก สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. และผู้จัดการเครือข่ายวิจัย กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะผลิตน้ำมันจากสายหร่ายที่มีศักยภาพในการแข่งขันด้านราคา ซึ่งผลจากการวิจัยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง

จากการวิจัยพบว่าน้ำมันที่ได้จากสาหร่ายแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือน้ำมันที่ไม่มีออกซิเจน สามารถนำเข้าสู่กระบวนการกลั่นได้ทันที กับน้ำมันในกลุ่มน้ำมันพืช ที่นำไปผลิตไบโอดีเซล บี 3 และ บี 5

"หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ภายใน 5 ปีจะสามารถผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่ายในราคา 150 เหรียญต่อบาเรล หรือลิตรละ 30 บาท แม้ปัจจุบันต้นทุนการผลิตยังสูงแตะลิตรละ 1 พันบาทก็ตาม" เขากล่าวและว่า ในต้นปี 2554 ปตท. จะเริ่มดำเนินการขยายกำลังการผลิตสาหร่ายสายพันธุ์ที่ให้ปริมาณน้ำมันสูง บนพื้นที่ 1 ไร่ กำลังการผลิต 10 ลิตรต่อวัน ที่อำเภอวังน้อย

ซึ่งหากประสบความสำเร็จ การจะขยายต่อไปเป็นระดับ 1 ไร่ ไม่ใช่เรื่องยาก อีกทั้งมีความเป็นไปได้สูงที่จะผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่ายเพื่อนำมาเติมเป็นเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์ รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ของสาหร่ายยังนำมาใช้ผลิตเป็นอาหารคน อาหารสัตว์ อาหารเสริมสุขภาพ ได้อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น