“ล.เยาวราช” โชห่วยผู้ไม่ยอมแก่

28.11.55
โดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 14 พ.ย.2555

การเชื่อมต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย ลองดูหนึ่งกรณีศึกษา“ล.เยาวราช” ตำนานโชห่วย ที่ปรับโฉมสู่ร้านค้าสุดชิค ด้วยสองมือทายาทรุ่น 4

ร้านค้าสุดน่ารัก มีสัญลักษณ์เป็นดอกโบตั๋นสีชมพู วางจักรยานและตุ๊กตาหมีต้อนรับอยู่หน้าร้าน พร้อมเหล่าโคมสีเขียวสะดุดตาผู้คนที่แวะเวียนหา

นี่คือ “LOR YAOWARAJ BANGKOK” พวกเขาไม่ใช่ผู้เล่นหน้าใหม่บนถนนเยาวราช ไม่ใช่นักลงทุนต่างถิ่น ตรงกันข้าม กลับเป็นร้านค้าในตำนาน “ล.เยาวราช” ที่อยู่ในสนามนี้มานานถึง 70 ปี

เรื่องเล่ายาวๆ ของธุรกิจครอบครัว ถูกบอกผ่านทายาทรุ่น 4 “ภาสประภา กันยาวิริยะ” ผู้จัดการทั่วไป ล.เยาวราช คนต้นไอเดียปรับโฉมกิจการ 7 ทศวรรษ ของครอบครัว ให้เป็นร้านสุดชิค

ในปี 2485 พ่อค้าชาวจีน 2 พี่น้อง “ขี่จั๊ว” และ “ใช่จั๊ว” แซ่ลิ้ม ได้เปิดร้านจำหน่ายสินค้าจำพวกของแห้ง นมผง อาหารสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวต่างๆ ใช้ชื่อภาษาจีนว่า“ลิ้มไท้จั๊ว” หมายถึง “แหล่งของคนไทย” สถานที่จับจ่ายซื้อข้าวของ สำหรับผู้คนในยุคนั้น

ต่อมาปี 2495 กิจการเจริญรุ่งเรืองเลยได้ขยับขยายธุรกิจ พร้อมเปลี่ยนชื่อร้านใหม่เป็น “ร้าน ล.เยาวราช” ซึ่ง “ล.” ก็มาจาก “แซ่ลิ้ม” ตระกูลของพวกเขานั่นเอง

ไม่น่าเชื่อว่า เข้าสู่ยุควิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 กิจการ ล.เยาวราช กลับเติบโตสวนทางเศรษฐกิจ พวกเขาได้จดทะเบียนบริษัทในชื่อ “บริษัท ล.ธนวงศ์ (1977) จำกัด” เน้นส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ก่อนจะประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะใน เนปาล และภูฏาน

ในปี 2554 ระหว่างที่คนกรุงยังผจญกับเหตุการณ์มหาอุทกภัย แต่ ล.เยาวราช กลับเลือกย้อนศรวิกฤติ มารีโนเวทตัวเองครั้งใหญ่ ปรับโฉมเป็นร้านสุดชิค พร้อมเปลี่ยนเครื่องหมายการค้า เป็น “LOR YAOWARAJ BANGKOK” นับจากนั้น

ธุรกิจกงสี ที่ประสบความสำเร็จ และอยู่มานานถึง 70 ปี มีมูลค่าธุรกิจหลักร้อยล้านบาทต่อปี อยู่มาได้เพราะความเชี่ยวชาญของคนรุ่นเก่าล้วนๆ เมื่อเทียบกับ คนรุ่นใหม่ ไฟแรง แต่อ่อนด้อยประสบการณ์ แต่พวกเขาทำอย่างไรถึงเปลี่ยนใจคนรุ่นเก่าให้ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

“แน่นอนว่าต้องต่อสู้อย่างมาก เพราะถามผู้ใหญ่ ก็บอกแค่ว่า ไม่ต้องทำหรอก เปลืองเงินเปล่าๆ ถึงวันนี้รายได้ก็โอเคอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรก็อยู่ได้ อยู่ตัวแล้ว"

เจอครอบครัวไหนก็ต้องตอบมาแบบนี้ แต่ “ภาสประภา” มีวิธีรับมือของเขา

จะคิดการใหญ่ต้อง “รู้เขา-รู้เรา” เริ่มจากแม่ผู้มีความคิดค่อนข้างสมัยใหม่ ก็ต้องยกเหตุผลที่คนรุ่นใหม่หายไปจากร้าน ขณะที่ยอดขายปลีกหน้าร้านก็ตกลงไปเรื่อย ๆ จะอาศัยแค่ลูกค้าเก่าแล้วร้านจะอยู่ได้นานแค่ไหน

ฟังแค่นี้แม่ “เก็ท”

แต่โจทย์ใหญ่กว่าแม่ คือ ป้า ของเขา "เบญญาภา กันยาวิริยะ" กรรมการผู้จัดการ ล.เยาวราช หัวหอกคนสำคัญของ ล.เยาวราชในวันนี้

คุณป้านักบู๊ ที่เก่งการค้า เชี่ยวชาญการขาย เรียกว่าขอแค่ลูกค้าบอกมาว่าอยากได้อะไร เธอก็จัดหามาให้ได้ทั้งนั้น ที่มาของสินค้าแบบจัดเต็มกว่า 5,000 รายการในร้าน “ล.เยาวราช” ทั้งจากไทยและนำเข้า

“ผมให้เหตุผลว่า เวลาลูกค้าเข้ามา ถ้าเรามีดีสเพลย์สวย ๆ เขาจะได้เห็นของสะดวก ๆ และจะทำให้เขาซื้ออย่างอื่นเพิ่มขึ้นด้วยนะ เจอแบบนี้ โดนเลย เพราะท่านต้องการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเขาอยู่แล้ว พอถามว่าจะทำอะไรบ้าง ตอนนั้นบอกแค่ว่า ก็เปลี่ยนชั้นใหม่ และทาสี..แค่นั้น”

บอกไม่หมดเพื่อไม่ให้ผู้ใหญ่ตกใจ พอ ๆ กับที่ไม่บอกเรื่องตัวเลขค่าใช้จ่าย เพื่อไม่ให้โครงการถูกพับตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม

อยากทำอะไรแปลกใหม่ แต่ก็ต้องแบกรับโจทย์หนัก คือ ต้องไม่กระทบกับการค้าขายของร้าน จะทำอะไรกับร้านก็ได้ แต่ต้องไม่ปิดร้าน เพราะ ล.เยาวราชเปิดขายมาตลอด 70 ปี โดยไม่มีวันหยุด แม้แต่วันที่เขาปิดบ้านปิดเมืองกัน ก็เป็นที่รู้กันดีว่า จะหาของตุนในยามวิกฤติ ก็ให้มาที่ “ล.เยาวราช”

ดังนั้นโครงการรีโนเวทร้าน จะต้องทำเฉพาะหลังร้านปิดและเคลียร์ทุกอย่างให้เสร็จก่อนร้านเปิด “เท่านั้น”

“ผมลงมาควบคุมการก่อสร้างเองทั้งหมด ทำกันตอนดึกหลัง 2 ทุ่ม และเคลียร์หน้างานให้เรียบร้อยตอน 6 โมงเช้า เพื่อที่จะขายของต่อ เป็นงานที่โหดมาก คิดดูว่าเราทำพื้นใหม่ รื้อระบบไฟทั้งหมด โดยไม่ปิดร้าน ยังขายทุกวัน”

งานหนักไม่ใช่แค่นั้น เมื่อร้านที่ทำออกมา แตกต่างจากความเชื่อของคนจีนหัวเก่าลิบลับ อย่างการเลือกใช้สีดำในร้าน โคมยังเป็นสีเขียว หน้าร้านที่คนจีนต้องเอาไว้ค้าขาย ก็ดันไปวางจักรยานและตุ๊กตาหมีให้คนมาถ่ายรูปซะงั้น

“วันแรกที่ทาสีดำ ข้างบ้านเดินมาถามเลยว่า ลื้อแช่งร้านตัวเองเหรอ คนจีนจะใช้สีดำไม่ได้ มันต้องแดง ต้องทองเท่านั้น เลยต้องอธิบายกันยกใหญ่ว่า ให้ใจเย็นๆ ก่อน ที่เลือกใช้สีดำเพราะจะทำให้สินค้าเราดูเด่นนะ แล้วดูสิ สีที่ใช้มันเทาเข้ม ไม่ได้ดำนะ (หัวเราะ) ผู้ใหญ่เลย เออ ไม่ดำก็ไม่ดำ ก็ยอมให้ทำ เพราะยังเชื่อในตัวเรา”

ทายาท ล.เยาวราช บอกเราว่า เหตุผลเดียวที่ทุกคนยังยอมให้เขาทำอะไรที่ฉีกๆ แบบนี้ เพราะเขาลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ไม่ได้ทำแค่ชี้นิ้วสั่ง พอผู้ใหญ่เห็นว่าทำจริง ก็เกรงใจและให้โอกาสเขา

“พอติดโคมเขียว ข้างบ้านก็เดินมาถามว่าจะขายโคมเหรอ วางจักรยานหน้าร้าน ก็ถามว่าจะขายจักรยานเหรอ บางคนก็มาถามขนาดว่า จะเซ้งร้านไปทำภัตราคารแล้วเหรอ ก็ต้องอธิบายกันเยอะมาก ทั้งคนของเราและคนอื่น”

เหนื่อยที่จะอธิบาย แต่ภาสประภาก็ยอมรับว่า ผู้ใหญ่ก็คงเหนื่อยกับเขาพอๆ กัน เพราะความหัวดื้อ หัวรั้น นั่นก็ยิ่งกดดันให้ต้องพิสูจน์ตัวเอง หนักแน่นในคอนเซ็ปต์ และไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้ เพื่อให้ทุกคนไม่ผิดหวัง

ก็ดูไม่ได้เลวร้าย เมื่อร้านใหม่ ที่ตกแต่งเสร็จภายในเวลา 1 ปี โดยไม่ได้ปิดร้านเลย กลับสร้างความแตกต่างอย่างกลมกลืนให้กับเยาวราช ลูกค้าเก่าได้รับความสะดวกสบาย ขณะที่ลูกค้ากลุ่มใหม่ก็เลือกเดินเข้าร้านมากขึ้น

“พอขายของได้มากขึ้น จากตอนแรกที่ต่อต้าน ผู้ใหญ่ก็ค่อยๆ ยอมรับ การอยู่ในครอบครัวคนจีนเป็นความอึดอัดอย่างหนึ่งนะ ยิ่งถ้าเราแคร์ผู้ใหญ่มาก ก็ยิ่งอึดอัดมาก อย่างเวลาเดินผ่าน แค่ท่านถอนใจใส่ ผมซึ่งเป็นคนทำและเป็นลูกหลานด้วย ก็ยิ่งรู้สึกแย่ ต้องต่อสู้อย่างมาก”

ต่อสู้กับทั้ง ผลงาน คนรอบข้าง กระทั่ง “ใจตัวเอง” ไม่ให้พ่ายแพ้ต่ออุปสรรคง่าย ๆ

สิ่งที่เหนือไปกว่าการทำเพื่อครอบครัว และดูจะเป็นเป้าหมายแรกๆ ที่ตัดสินใจลุกมาทำอะไรแบบนี้ คือการได้เปลี่ยนแปลงเยาวราชให้มีสีสันขึ้น แม้แต่คอนเซ็ปต์ของที่นี่ยังเลือกใช้สีเขียว ประดับต้นไม้ไว้บนตึก เพื่อจะให้เป็น “กรีนเยาวราช” ปอดของคนเยาวราชที่ห่างไกลธรรมชาติมานาน

ขณะที่การดีไซน์สไตล์จีนร่วมสมัย กลมกลืนกับเยาวราช ก็ช่วยทำให้ ล.เยาวราช ยุคทายาทอย่างเขา ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของถนนเส้นนี้..

ถามถึงการเชื่อมต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น ในแบบ ล.เยาวราช เขาบอกเราว่า ต้องทำความเข้าใจกับคนรุ่นก่อนว่าเขาคิดอ่านอย่างไร ทุกคนต่างต้องการทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมาจุนเจือครอบครัว ดังนั้นทายาทอย่างเขาก็ต้องทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปให้ได้ เป็นทายาทต้องรับฟังผู้ใหญ่ และหาเหตุผลมาสนับสนุนการตัดสินใจของตัวเอง ค่อยๆ สร้างการยอมรับ โดยแสดงให้เห็นถึง “ความตั้งใจจริง” และลงมือทำเองทุกขั้นตอน

“ธุรกิจกงสี ต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ของตนเอง เพราะแต่ละคนเก่งไม่เหมือนกัน ไม่มีใครด้อยไปกว่าใคร เพราะทุกคนก็รู้หน้าที่ของตัวเองดี เราอาจจะถูกตีกันในเรื่องความคิดบ้าง แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็จบลงตรงความเป็น ครอบครัว”

ยังมีแผนการมากมายอยู่ในความคิดของทายาท อย่างการรวบรวมสินค้าดัง ๆ ของเยาวราช มาปรับแพคเก็จให้ดูดีแล้วขายในแบรนด์ “LOR YAOWARAJ BANGKOK” รวมถึงฝันใหญ่อย่างการมีร้านของพวกเขาอยู่ใน ” ไชน่าทาวน์ทั่วโลก”

ยังมีเวลาพิสูจน์ตัวเอง แต่วันนี้ “ล.เยาวราช” ก็ยังคงอยู่คู่เยาวราช และพร้อมสร้างตำนาน “หน้าใหม่” ให้กับถนนเส้นนี้อีกครั้ง

.......................................................

Key to success เปลี่ยนถ่ายธุรกิจแบบ “ล.เยาวราช”
๐ จากโชห่วย 7 ทศวรรษ มาเป็นร้านสุดชิค

๐ ขยายกลุ่มลูกค้ามาสู่นักท่องเที่ยวและคนรุ่นใหม่

๐ สร้างสีสันให้กับถนนเก่าแก่อย่างเยาวราช

๐ ผู้ใหญ่เปิดทาง ทายาทลงมือทำจริง

๐ เข้าใจ รับฟัง และยึดมั่นในเป้าหมาย

๐ ทายาทไม่ทิ้งธุรกิจครอบครัว ลงมือทำเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น