ชุดอุปกรณ์สกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก สำหรับครัวเรือน ผลงานของเทคนิคกระบี่

12.3.54
โดยเทคโนโลยีชาวบ้าน เมื่อ 1 มี.ค.2554

ผลงานการประดิษฐ์ 

"ชุดอุปกรณ์สกัดน้ำมันปาล์มสำหรับครัวเรือน (A Set of Palm Oil Extracting Machine for Household)" 

เป็นผลงานการประดิษฐ์ของ 

1. อาจารย์เฉลิมศักดิ์ มีไพบูลย์สกุล และคณะ 

ประกอบด้วย 

2. คุณณรงค์ ตั้งถึงถิ่น 

3. คุณณรงค์ เผือกแสง และ 

4. คุณเกรียงไกร ไชยบุญ แผนกวิชาช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ ถนนท่าเรือ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ 

โทร. (075) 611-796, (081) 086-2577

ถือเป็นหนึ่งในผลงานการประดิษฐ์ที่ก่อประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน จึงทำให้ผลงานดังกล่าวได้รับการคัดเลือกจาก

คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2554
ซึ่ง อาจารย์เฉลิมศักดิ์ หัวหน้าคณะผู้วิจัย กล่าวถึงที่มาของการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวว่า จากปัญหาที่ในปัจจุบัน เกษตรกรหรือชาวสวนปาล์มส่วนใหญ่ต้องนำผลปาล์มที่เก็บได้จากสวน ไปขายที่จุดรับซื้อหรือที่โรงงาน การเก็บผลปาล์มจากสวนเพื่อนำไปขายจะต้องเก็บผลที่มีขนาดที่สุกพอดีจึงจะขายได้ราคา และที่สำคัญชาวสวนปาล์มไม่สามารถกำหนดราคาผลปาล์มได้เอง

ขณะที่การสกัดหรือหีบน้ำมันปาล์มในปัจจุบันจะเป็นระดับโรงงานขนาดใหญ่ที่ลงทุนสูงมาก ต้องนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศ ต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการผลิต และยังไม่มีการสกัดหรือหีบน้ำมันปาล์มเองในระดับครัวเรือน

อาจารย์เฉลิมศักดิ์ บอกอีกว่า การประดิษฐ์ชุดอุปกรณ์สกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก สำหรับครัวเรือนนี้ เน้นการใช้เทคโนโลยีที่ไม่สูงเกินไป โดยที่ชุดเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการประดิษฐ์หาซื้อได้ในท้องถิ่นทั่วไป ที่มีราคาไม่แพง และสามารถสกัดน้ำมันปาล์มได้เองโดยไม่ยุ่งยาก จะทำให้ชาวสวนปาล์มระดับครัวเรือนสามารถสกัดน้ำมันปาล์มได้เอง

"จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการจัดการกับผลผลิตหรือต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผลผลิตเดิมที่ขายได้เฉพาะผลปาล์มสดเท่านั้น หรือสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลเล็ก เพื่อการเกษตรต้นแบบที่วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ได้พัฒนาขึ้น ซึ่งสามารถใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงได้โดยตรง"

"น้ำมันที่ได้ยังสามารถนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล หรือจะพัฒนาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคและบริโภคได้เอง จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ผลปาล์มที่ผลิตได้มีมูลค่าที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน" อาจารย์เฉลิมศักดิ์ กล่าว

สำหรับลักษณะเด่นของสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว อาจารย์เฉลิมศักดิ์ บอกว่า มีราคาถูกกว่าเครื่องสกัดน้ำมันปาล์มทั่วไป สามารถเลือกใช้น้ำมันปาล์มดิบหรือน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ต้นกำลัง ใช้เนื้อที่ในการติดตั้งน้อยกว่า

"รวมถึงการซ่อมบำรุงรักษาได้ง่ายกว่า เกษตรกรสามารถสกัดน้ำมันปาล์มได้เองโดยวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก และหาซื้อวัสดุ อุปกรณ์ในการซ่อมได้โดยทั่วไป"

สำหรับอุปกรณ์ที่สำคัญของชุดอุปกรณ์สกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก สำหรับครัวเรือน จะประกอบด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก 1 สูบ ท่อเหล็ก ท่อน้ำมันและถังน้ำมันสำหรับประดิษฐ์ชุดอุปกรณ์อุ่นน้ำมันปาล์มดิบ (สำหรับใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิง) เฟืองทด ชุดสกรูบีบอัดน้ำมัน และถาดสำหรับรองรับน้ำมัน ถังย่อยและคัดแยกผลปาล์ม สายพานและอุปกรณ์ส่งกำลัง

นอกจากนี้ มีชุดใบกวนเพื่อย่อยและคัดแยกผลปาล์ม เหล็กสำหรับทำโครงยึดอุปกรณ์ทั้งหมด มอเตอร์สำหรับชุดหมุนเหวี่ยงความเร็วสูง จานหมุนเหวี่ยงน้ำมันปาล์มดิบ ถังแยกน้ำออกจากน้ำมันปาล์มดิบ ชุดกรองละเอียดน้ำมันปาล์มดิบ อุปกรณ์จับยึดและอื่นๆ

ชุดอุปกรณ์สกัดน้ำมันปาล์มสำหรับครัวเรือน ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 

1. เครื่องสกัดน้ำมันปาล์มสำหรับครัวเรือน และ

2. ชุดอุปกรณ์ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันปาล์มดิบ

การสกัดน้ำมันปาล์มโดยเครื่องฯ ที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ ใช้วิธีการให้ความร้อนกับผลปาล์มในขั้นตอนสกัดเพียงครั้งเดียวก็สามารถสกัดได้น้ำมันปาล์มดิบออกมา โดยเครื่องยนต์ต้นกำลังในการย่อยผลปาล์มและสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก สูบเดียว ที่ได้พัฒนาให้สามารถใช้น้ำมันปาล์มดิบที่ได้จากการสกัดเป็นเชื้อเพลิงได้

"ส่วนการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันที่สกัดได้ ด้วยการให้ความร้อนน้ำมันปาล์มดิบที่ 70 องศาเซลเซียส ในขั้นตอนเดียว นำมาผ่านชุดอุปกรณ์ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อการกรองหยาบ แยกน้ำออกจากน้ำมัน แยกสารแขวนลอย สิ่งสกปรก น้ำ และสิ่งเจือปนต่างๆ ที่เหลือ รวมทั้งกรองละเอียดในเครื่องเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว" อาจารย์เฉลิมศักดิ์ กล่าว

สำหรับกรรมวิธีในการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ อาจารย์เฉลิมศักดิ์ อธิบายว่า เริ่มจากเก็บผลปาล์มจากต้น นำมาสับให้ผลปาล์มหลุดออกจากทะลายอย่างหยาบๆ สตาร์ตเครื่องยนต์ด้วยน้ำมันดีเซล 1 นาที แล้วเปลี่ยนวาล์วไปใช้น้ำมันปาล์มดิบ (ก่อนดับเครื่อง 5 นาที ให้เปลี่ยนวาล์วกลับไปใช้น้ำมันดีเซลเพื่อล้างระบบปั๊มและหัวฉีด)

"จากนั้น ให้เทผลปาล์มที่สับแล้วลงในช่องด้านบนของเครื่องสกัดน้ำมัน เครื่องจะย่อยผลปาล์มให้หลุดจากช่อทะลายที่เหลือและแยกผลปาล์มออกมา นำผลปาล์มที่ได้จากการแยกของเครื่องสกัดไปต้มในน้ำเดือด 30-45 นาที" อาจารย์เฉลิมศักดิ์ กล่าวและว่า

"หลังจากนั้น นำผลปาล์มที่ต้มร้อนๆ เทลงในกระบอกของสกรูอัดน้ำมันของเครื่องสกัดผลปาล์มจะถูกบีบอัดให้น้ำมันแยกออกจากกากและเส้นใยปาล์ม"

ส่วนกรรมวิธีปรับปรุงคุณภาพน้ำมันปาล์ม จะทำงานโดยการนำน้ำมันปาล์มดิบที่สกัดได้มาต้มที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส นำมากรองหยาบด้วยตะแกรงกรอง จากนั้นเปิดสวิตช์ปั๊มเพื่อดูดน้ำมันเข้าสู่ถังแยกน้ำจากน้ำมัน ทิ้งไว้ 10 นาที น้ำมันปาล์มดิบจะถูกแยกตัวออกจากน้ำ เปิดวาล์วเพื่อถ่ายน้ำออกมา เปิดสวิตช์เครื่องหมุนเหวี่ยงความเร็วสูงและค่อยๆ ปล่อยน้ำมันลงมา

ซึ่งเครื่องจะแยกสารแขวนลอย สิ่งสกปรกเจือปนต่างๆ และน้ำที่เหลือ เปิดวาล์วปล่อยลมความดันต่ำเพื่อดันน้ำมันเข้าระบบกรองละเอียด จะได้น้ำมันปาล์มดิบพร้อมใช้

อาจารย์เฉลิมศักดิ์ บอกว่า การทำงานในกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ สามารถย่อยผลปาล์มที่ใช้วิธีการเพียงสับอย่างหยาบๆ และคัดแยกผลปาล์มออกจากกลีบช่อทะลายได้ในเครื่องเดียวกัน สามารถสกัดน้ำมันได้อย่างต่อเนื่อง นาทีละประมาณ 3 กิโลกรัมผลปาล์มสด หรือชั่วโมงละ 180 กิโลกรัมผลปาล์มสด การสกัดสามารถแยกกากและเส้นใยปาล์มออกจากน้ำมันปาล์มได้เอง และสามารถเลือกใช้น้ำมันปาล์มดิบหรือน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ต้นกำลัง

ส่วนกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันปาล์มดิบสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและได้น้ำมันคุณภาพดี มีน้ำเสียจากกระบวนการสกัดน้อย เพราะน้ำที่เหลือหรือแยกออกจากน้ำมันปาล์มดิบสามารถนำกลับมาใช้ในการต้มผลปาล์มในกระบวนการสกัดน้ำมันได้อีก

จากผลงานการคิดค้นดังกล่าวนี้ ในส่วนของประโยชน์ที่เกิดขึ้น อาจารย์เฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า การมีชุดอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำให้ เกษตรกรสามารถสกัดน้ำมันปาล์มได้เองในระดับครัวเรือน เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลปาล์มของเกษตรกรในกรณีผลปาล์มมีราคาตกต่ำให้สามารถเลือกวิธีการจัดการกับผลผลิตของตนเองจากเดิมที่ต้องนำไปขายเพียงอย่างเดียว เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลปาล์มไว้ได้นาน เพราะเมื่อเก็บผลปาล์มจะต้องรีบขายโดยเร็ว มิฉะนั้น จะทำให้ราคายิ่งตกลงและท้ายที่สุดจะนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้

นอกจากนี้ เกษตรกรสามารถสกัดน้ำมันปาล์มเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน โดยอาจจะใช้น้ำมันปาล์มดิบกับเครื่องยนต์ที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะโดยตรง นำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล หรือนำไปต่อยอดโดยการผลิตเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ในระดับชุมชน กากปาล์มและส่วนที่เหลือทั้งหมดสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการทำเป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ย และเชื้อเพลิง เป็นต้น

"พร้อมกันนี้ยังสามารถจัดเก็บผลผลิตในรูปน้ำมันได้นานกว่าการเก็บในลักษณะผลปาล์มที่ตัดจากต้น ประหยัดเนื้อที่ในการจัดเก็บ สะดวกในการขนส่ง สามารถเลือกช่วงเวลาการขายน้ำมันปาล์มดิบในช่วงที่มีราคาสูงได้ และการนำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในรูปแบบต่างๆ จะทำให้ลดการสูญเสียเงินจำนวนมากในการสั่งซื้อน้ำมันดีเซลจากต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของชาติในภาพรวมดีขึ้น มลพิษทางอากาศลดน้อยลง และที่สำคัญจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น" อาจารย์เฉลิมศักดิ์ กล่าว

สำหรับการเผยแพร่ผลงานออกไปสู่เกษตรกรนั้น อาจารย์เฉลิมศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า ได้มีการมอบเครื่องสกัดน้ำมันปาล์มสำหรับครัวเรือนให้กับเกษตรกร และหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้ในการสาธิตแก่เกษตรกรที่สนใจ เช่น มอบให้กับ 

คุณสงวน มงคลศรีพันเลิศ ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเขากลม ตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ 

ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมศึกษาดูงานปีละมากกว่า 50,000 คน รวมถึงที่ศูนย์เรียนรู้ ที่ตำบลดินอุดม อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ โดยใช้งบประมาณศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชุน ภารกิจด้านการต่อยอดเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ชุมชน ของวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ รวมถึงใช้เพื่อประกอบการเรียนการสอนนักศึกษา ที่แผนกวิชาช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือ อีกหนึ่งผลงานการคิดค้นที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่มาจากมันสมองของคนไทย และเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น