บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยตรา “ไบโอ”

13.11.52

ปีที่แล้ว บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยตรา “ไบโอ” ได้ฤกษ์เปิดตัวทำความรู้จักกับคนไทย หลังจากที่ไปเปิดตลาดขายดิบขายดีเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศมากว่า 5 ปีแล้ว บริษัทนี้ถือหุ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกลุ่มบริษัท เอ็มดีเอส จำกัด

โดยคุณสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามศรี กรรมการผู้จัดการ 

เล่าถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งยังไม่ค่อยเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของคนไทยนี้ว่า


“ไบโอ” เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากเยื่อกระดาษชานอ้อย ซึ่งนำเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศจีนมาปรับปรุงใหม่ ประเทศจีนถือว่าเป็นผู้นำในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เพราะความจำเป็นเนื่องจากเขามีประชากรมหาศาลซึ่งถ้าไม่จัดการให้ดีก็ย่อมหมายถึงจะมีปริมาณขยะมหาศาลตามไปด้วย
ปกติแล้วชานอ้อยเป็นของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล เป็นเยื่อที่ไม่แข็งแรงพอจะนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ใดๆ จะถูกนำไปใช้ก็แค่เป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้ซึ่งก็ก่อให้เกิดมลพิษสูงเช่นกัน เพราะฉะนั้นเมื่อถูกนำมาทำเยื่อกระดาษจึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่แทบจะไร้ค่า ซึ่งในบ้านเรามีชานอ้อยถูกทิ้งๆ ขว้างๆ อยู่เยอะมาก แต่ในอนาคตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอาจพัฒนาไปสู่การใช้ต้นข้าว ข้าวโพด หรือผักตบชวาเป็นวัตถุดิบก็ได้


บรรจุภัณฑ์ของไบโอนี้ถือเป็นนวัตกรรมสีเขียวที่มีคุณสมบัติดีเด่นหลายประการ ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่เรียบง่าย ประหยัดพลังงานกว่าการผลิตพลาสติก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เยื่อจากไม้ยืนต้น และเลือกใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า ECF คือไม่ใช้คลอรีนในการฟอกสีเยื่อกระดาษ ทำให้ได้เยื่อกระดาษที่สะอาดและปลอดภัย และผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแสง UV อีกครั้งก่อนจะส่งถึงผู้บริโภค

ในแง่การใช้งานเมื่อเปรียบเทียบกับพลาสติกและโฟมก็พบว่า ไบโอมีข้อดีกว่ามากตรงที่สามารถใช้ใส่น้ำ และอาหารทั้งเย็นจัดจนถึงร้อนจัด (-40 ถึง 250 องศาเซลเซียส) เข้าเตาอบและเตาไมโครเวฟได้ ไม่มีสารปนเปื้อนก่อมะเร็ง ขณะที่โฟมและพลาสติกทำไม่ได้อย่างนี้ แถมยังมีการปนเปื้อนสารสไตรีน มอนอเมอร์ ไดออกซิน และไวนิล คลอไรต์ มอนอเมอร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นสารก่อมะเร็งอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น
สำคัญที่สุดคือ จานชามจากชานอ้อยย่อยสลายได้ในเวลา 45 วันเท่านั้นเอง

แต่อุปสรรคที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยังไม่เปิดใจเปลี่ยนมาใช้จานชามจากชานอ้อยก็เพราะ ราคาที่แพงกว่าโฟม 2 เท่า แม้ว่าจะถูกกว่าพลาสติกใช้แล้วทิ้งก็ตาม เมื่อคนใช้น้อย สินค้าผลิตน้อย ต้นทุนต่อชิ้นจึงสูง แต่ถ้าเมื่อไหร่คนหันมาใช้เยอะขึ้น ราคาก็ย่อมจะถูกลง เหมือนในหลายๆ ประเทศที่บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ราคาถูกกว่าโฟมแล้ว และในที่สุดภาชนะโฟมจะต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกเสียที
สามปีที่แล้ว ไต้หวันประกาศงดใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร กรกฏาคมปีที่แล้ว นครซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ ประกาศห้ามใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารและอีกสิบห้าวันต่อมามีประกาศให้เลิกใช้ถุงก๊อบแก๊บ ปีหน้าประเทศแคนาดาจะปลอดโฟม ฝรั่งเศสประกาศตั้งแต่ปี 2005 ว่าในปี 2010 ประเทศเขาจะไม่มีกล่องโฟมและถุงก๊อบแก๊บ ในญี่ปุ่นเมื่อคุณซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตโดยไม่เอาถุงพลาสติก เขาจะคืนเงินให้ถุงละ 10 เยน


ในเมืองไทย เรายังไม่เห็นมาตรการที่แสดงถึงความจริงใจต่อความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากภาครัฐ มีเพียงองค์กรบางแห่งเท่านั้นที่เริ่มขยับตัวบ้างแล้ว เช่น ในโรงอาหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีนโยบายให้เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้แทนกล่องโฟม

ขณะนี้ “ไบโอ” ยังเป็นบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้เพียงแบรนด์เดียวของไทยที่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายอย่างเป็นจริงเป็นจัง ปริมาณที่ผลิตได้ยังแค่ 1% ของปริมาณโฟมที่คนไทยใช้กัน กว่าจะถึงวันที่มีเรามีบรรจุภัณฑ์ปลอดภัยเป็นทางเลือกให้ใช้กันได้อย่างแพร่หลาย ไม่รู้ว่าสุขภาพจะเป็นอันตราย โลกจะถูกทำร้าย และขยะจะล้นเมืองไปขนาดไหน


บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยตราไบโอ มีวางจำหน่ายที่

เซเว่น อีเลฟเว่น 
ท๊อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต 
ฟู้ดแลนด์
โฮมเฟรชมาร์ท 
ห้างแมคโคร 
เทสโก้โลตัส และ
คาร์ฟูร์ 

ผลิตโดย บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด


เลขที่ 46/151 หมู่ 12 ถนนนวลจันทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร 10230 โทร.0-2363-4370, 0-2944-5512 โทรสาร 02-944-5282


--------------------------------
วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ...ผู้สร้าง BIO แพ็กเกจจิ้ง... "หน้าที่เราสร้าง...ทางเลือกให้กับเขา" save text
มติชน 2008-01-21 00:00:00


ตอนนี้กระแสหลักของโลกมุ่งไปใน 2 เรื่องหลัก คือ สุขภาพ กับ สิ่งแวดล้อม !


ถ้าเราสามารถพัฒนาธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ 2 กระแสหลักของโลกนี้ได้ โอกาสในการเติบโตก็จะมีสูง และยิ่งมีโอกาสสูงมากกว่านั้นอีก ถ้าสินค้าที่เราสร้างมีนวัตกรรม เพราะ ความหมายของนวัตกรรมก็คือ เรื่องใหม่ สิ่งใหม่ ที่ยังไม่ค่อยมีใครทำ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เราเป็นรายแรก... เริ่มก่อน มีสิทธิ์ก่อน


แต่ก็ต้องยอมรับ การเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรมก็มีข้อลบ ความที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนจึงไม่มีข้อเปรียบเทียบ ทำให้พอจะเริ่มทำเป็นธุรกิจจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้ามีแรง มีทุน มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ฯลฯ ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นได้แบบรวดเร็ว


ดั่งเช่น "BIO" แบรนด์แพ็กเกจจิ้งสำหรับอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากเยื่อชานอ้อยที่มีขบวนการผลิตที่ไม่ทำร้ายสุขภาพและไม่ทำลาย สิ่งแวดล้อม ของบริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อ สิ่งแวดล้อม จำกัด ที่มีเส้นทางการก่อเกิดในช่วงแรกนั้นยากเย็นแสนเข็ญ แต่พอสร้างให้เกิดได้แล้ว ใช้เวลาแค่ 2 ปีก็เห็นความสำเร็จและ ยังต่อยอดอนาคตได้อีกยาวไกล


- 2 ปียอดขายโต 900%


น.พ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ผู้สร้างสรรค์แพ็กเกจจิ้งไบโอ ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตอนเริ่มต้นเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งในเรื่องของการค้นคว้าวิจัยกว่าจะได้สูตร การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และสุดท้ายคือเรื่องของทุน !

สำหรับผลิตภัณฑ์ไบโอ ผมใช้เวลาศึกษาประมาณ 3 ปี โดยเริ่มจากการศึกษาในตลาดโลกว่า ผลิตภัณฑ์แนวรักษาสุขภาพและไม่ทำลายสุขภาพนั้นมีอะไรบ้าง ก็พบว่ามีทั้งที่ทำมาจากแป้ง จากเยื่อกระดาษ ฟางข้าวโพด ฯลฯ แต่ทว่าจากเยื่อชานอ้อยยังไม่มี

จากนั้นก็ศึกษาต่อในเรื่องของเทคโนโลยีก็พบว่า เทคโนโลยีของเยอรมันดีมาก แต่ก็แพงมากเช่นเดียวกัน และศึกษาต่อก็พบว่าที่จีนก็มี ก็เลยนำเทคโนโลยีจากทั้ง 2 ประเทศมาพัฒนาและปรับปรุงใหม่ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและราคาไม่แพง

และสุดท้ายก็มาจบที่เรื่องของทุน ที่ต้องใช้ความพยายามสูงพอสมควรกว่าที่จะขายคอนเซ็ปต์ไอเดียตลอดจนแผนธุรกิจที่จูงใจให้สถาบันการเงินของไทยยอมรับและปล่อยกู้ได้

"รวมเวลาแล้วเกือบ 3 ปีในการศึกษา และเตรียมความพร้อมทุกอย่างจนกลายมาเป็นโรงงานบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่ที่ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ที่เดินเครื่องการผลิตตอนปี 2549 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลา 2 ปี ผลิตภัณฑ์ของเรา มีการเติบโต 900%"

เราเริ่มผลิตและทำตลาดตอนปี 2549 มียอดขายเกือบๆ 10 ล้านบาท พอปี 2550 ที่ผ่านมา ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 90 กว่าล้านบาท ในปี 2551 นี้ตั้งเป้าเติบโตเพิ่มขึ้น 100% โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 200 ล้านบาท เดินกำลังการผลิต 24 ชั่วโมง

- การเติบโตเร็วมาก

ใช่ครับ ทั้งนี้เพราะในโลกนี้มีผู้ประกอบการที่ผลิตเหมือนกับเราอยู่แค่ 16 โรงเท่านั้น โดย 15 โรงอยู่ในประเทศจีน ซึ่งส่วนใหญ่เขาผลิตและใช้ในประเทศ เหลืออีก 1 โรงคือ ของไทย

ซึ่งสินค้าแบบนี้เป็นที่ต้องการมากในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเราทำได้ ผลิตได้และสินค้ามีคุณภาพ และเป็นสินค้าที่ตรงกับกระแสโลก คือ รักษาสุขภาพและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้ตลาดต่างประเทศเติบโตเร็วมาก
- ผลิตภัณฑ์ไบโอส่งออกเป็นหลัก

ครับ ตอนนี้สัดส่วนส่งออกประมาณ 80-90% ขายในประเทศแค่ 10-20% ในช่วง 2 ปีที่ผ่าน แต่ปีนี้เรามีนโยบายที่จะขยายตลาดในประเทศ เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าที่จะปรับสัดส่วนระหว่างส่งออกและขายในประเทศให้อยู่ที่ 60 : 40 ให้ได้

- ทำไมถึงมองในประเทศทั้งที่ตลาดต่างประเทศก็ยังไปได้ดี

มี 2 เหตุหลักๆ คือ 1.ผมคิดว่า ของดีคนไทยควรจะได้ใช้บ้าง เพราะที่ผ่านมาสินค้าดีๆ ที่ผลิตในไทย แต่คนไทยไม่ค่อยได้ใช้ และ 2.ปัญหาความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งผมเชื่อว่าการเพิ่มตลาดในประเทศจะช่วยในเรื่องการบาลานซ์ค่าเงินได้ดีขึ้น

- มีกลยุทธ์อื่นๆ อีกหรือเปล่ากับปัญหาค่าบาท

ก็มีเรื่องการซื้อฟอร์เวิร์ด มีการเจรจาต่อรองขอปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งก็ขอปรับได้แค่ 10% ขณะที่ภาระของเราอยู่ที่ 20% ที่เหลือเราก็ต้องมาดู เรื่องอื่นๆ อาทิ ปรับปรุงเรื่องบริหารจัดการ เรื่องขบวนการผลิต ขบวนการทำงาน การเพิ่มประสิทธิภาพของคน การขนส่ง ที่รวมถึงเรื่องโลจิสติกส์ทั้งระบบ

ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะธุรกิจของเราใหม่ ในประเทศไทยไม่มีใครทำมาก่อน เราจึงไม่มีโมเดลต้นแบบให้ศึกษาแต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นความท้าทาย เพราะพอทำสินค้าแบบนี้ก็ทำให้เราได้คิดอะไรที่ใหม่ๆ ตลอด

- เรื่องการแข่งขันมีปัญหาบ้างหรือเปล่า

ตอนนี้ยังไม่มี เพราะอย่างที่บอก สินค้าแบบเรายังไม่มีใครทำ

เวลานี้ห้างใหญ่ของโลก เราเข้าได้เกือบหมดแล้ว เทสโก้ โลตัส คาร์ฟูร์ ฯลฯ ผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ ฯลฯ วิ่งมาที่เรา

ส่วนในประเทศเวลานี้ในโมเดิร์นเทรดทั้งหมด เรากระจายสินค้าครบแล้ว รวมถึงยี่ปั๊วใหญ่ จึงค่อนข้างสะดวกมากสำหรับผู้บริโภคที่จะซื้อสินค้าของเรา

- ทำไมตลาดต่างประเทศจึงสร้างได้เร็วและง่าย

มี 2 สาเหตุครับ 1.ตลาดต่างประเทศที่โตเร็วมาก ทั้งนี้ก็เพราะคนต่างประเทศเขามี environment concern และ helth concern อยู่แล้ว เพราะถูกปูพื้นฐาน

มานานในเรื่องของการรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นเวลาเขาเลือกซื้อก็จะเลือกซื้อสินค้ากลุ่มนี้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปกระตุ้นไปผลักดัน

บทบาทเราคือ จึงเป็นแค่ผู้สร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกให้กับเขา

สาเหตุที่ 2 ที่เราเข้าไปแข่งได้ง่าย เนื่องจากสินค้าของเราถูกกว่าโฟม ถูกกว่าพลาสติก ทั้งนี้เพราะในต่างประเทศ ผู้ผลิตโฟมหรือพลาสติกต้องจ่ายค่ากำจัดขยะ สมมุติโฟมผลิตที่ 1 บาท ผู้ผลิตต้องจ่ายค่ากำจัดขยะ 6 บาท เราขาย 2 บาท ก็ยังถูกกว่า

- ซึ่งต่างจากบ้านเรา

ใช่ ! บ้านเราเวลานี้ รัฐบาลยังไม่มีมาตรการเรื่องนี้ ปัญหาเรื่องของการกำจัดขยะยังเป็นภาระของประชาชนที่ต้องเป็นคนจ่าย ไม่ใช่ผู้ผลิตที่ควรจะต้องรับผิดชอบ

- แล้วราคาขายในประเทศ

ไบโอแพงกว่า 1 เท่า สมมุติโฟม 50 สตางค์ ไบโอ 1 บาท, ถ้าโฟม 2 บาท ไบโอ 4 บาท

แต่ผมอยากบอกว่า อย่ามองแค่ราคาถูกกว่าหรือแพงกว่า แต่ให้มองที่คุณประโยชน์และความคุ้มค่าในการใช้ เพราะผลิตภัณฑ์ไบโอผลิตจาก เยื่อชานอ้อย ย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งสารตกค้าง ใช้กับความร้อน 100 องศาก็ได้ หรือความเย็นในช่องฟรีซก็ได้ และใช้ได้กับผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิด

ขณะที่ทั้งโฟม พลาสติก ต่างมีปัญหาทิ้งสารตกค้างที่เป็นสารก่อมะเร็ง และยังทำลาย สิ่งแวดล้อม

- คิดจะทำราคาให้ถูกเพื่อแข่งกับโฟม

ไม่ครับ ผมว่ามันผิดหลักการ และขบวนการผลิตจริงๆ ก็ทำไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่ากับราคาที่ขายอยู่ กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มบีที่มีความรู้ มีการศึกษา น่าจะเข้าใจและรับได้กับความคุ้มค่าที่ได้รับ โดยที่ไม่ได้มองแค่เรื่องของราคาอย่างเดียว

- สร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างไร

ตอนนี้เรากระจายสินค้าครอบคลุมเกือบทุกช่องทางแล้ว เราก็เริ่มโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบระหว่างโฟมกับผลิตภัณฑ์ไบโอ โดยการเผยแพร่ผ่านสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ ฯลฯ

ส่วนช่องทางอื่นๆ ก็ทำร่วมกับสวนสัตว์เขาเขียว สถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ไบโอทั้งหมด มีการคุยกับทางโรงพยาบาลพญาไท ก็เริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ของเราแล้วในห้องอาหารของโรงพยาบาล และต่อไปก็จะขยายการใช้เข้าไปในห้องคนไข้พิเศษ

จากนั้นคงพยายามเพิ่มช่องทางใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ทั้งโรงเรียน กระทรวงต่างๆ รวมถึงร้านค้าอื่นๆ ที่มองเห็นคุณประโยชน์ตรงกัน คือรักษ์สุขภาพ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

- ภาพของบริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ใน 3-5 ปีข้างหน้า

เราจะไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมแค่อย่างเดียว แต่เราจะทำในมิติของการจัดจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปภายใต้แนวคิดมาร์เก็ตติ้งโอเรียลเต็ด

ตอนนี้ต้องบอกว่า ในเรื่องของการตลาดเราค่อนข้างแข็งแกร่ง มีลูกค้าที่รู้จัก "ไบโอ" ว่ามี โพซิชันนิ่งอย่างไร จุดแข็งอย่างไร ดังนั้นนอกจากที่ไบโอที่ผลิตเองและขายแล้ว เราก็จะหาสินค้าในกลุ่มเดียวกันจากทั่วโลก นำมาขายในช่องทางตลาดที่เรามี

อย่างล่าสุดตอนนี้ที่กำลังทำอยู่ก็คือ นำผลิตภัณฑ์ที่เป็นช้อน ส้อม มีดที่ผลิตจากแป้ง มาทำตลาดขายผ่านในช่องทางที่เรามี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ซึ่งเวลานี้ทั่วโลกยังมีสินค้าอื่นๆ อีกเยอะที่เราสามารถสร้างให้เกิดประโยชน์ โดยกระจายให้ ผู้บริโภคมีโอกาสได้ใช้เยอะ...ผลที่ตามมาก็คือ ดีกับเราคือสุขภาพ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

4 ความคิดเห็น:

  1. ผมมีอาชีพผลิตแม่พิมพ์และออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก
    ผมมีความสนใจและอยากจะลองทำดูบ้างแต่ต้องไปหาข้อมูลได้ที่ไหนคับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่ระบุชื่อ14 กรกฎาคม 2555 เวลา 14:21

      มีงจะบ้าหรือ มันอาชีพกู

      ลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ21 มีนาคม 2556 เวลา 10:42

    ห่วยมากแพงมากทำเพื่อตัวเองไม่ทำเพื่อสังคม

    ตอบลบ