การปลูกยาพารา จ.หนองคาย

29.6.53
ปี 2553

อบจ.หนองคาย"โชว์"โบว์แดง" หลักสูตรท้องถิ่น"ยางพาราอีสาน"

โดย นฤตย์ เสกธีระ

มุมหนึ่งเล็กๆ ภายในงาน "หนองคายกินดีอยู่ดี ไอซีทีสู่อินโดจีน" องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)หนองคาย จัดนิทรรศการผลงานของตัวเองเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้าชมงานที่สนใจ

ในมุมเล็กๆ มีตัวอักษรตัวเขื่อง "หลักสูตรการปลูกยางพารา" อักษรดังกล่าวแม้จะเป็นอักษรเรียบๆ แต่คำว่า "หลักสูตรการปลูกยางพารา" นั้น สะดุดใจไม่ใช่น้อย

ทั้งนี้ เพราะยางพาราเคยเป็นพืชเศรษฐกิจของทางภาคใต้

ทั้งนี้ เพราะยางพาราต้องการสภาพภูมิอากาศและความชุ่มชื้น

ทั้งนี้ เพราะการปลูกยางพาราที่ผ่านมาเป็นวิถีชีวิตชาวบ้าน แต่สำหรับที่นี่กลับรวบรวมเป็นหลักสูตรวิชาให้เด็กได้เล่าเรียน

ด้วยข้อสงสัยดังกล่าว ทำให้ต้องรีบหาคำตอบ

ดร.จรูญ จิตรักษ์ ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม อบจ.หนองคาย 

คนที่รู้เห็นการกำเนิดหลักสูตรนี้มาตั้งแต่ต้นบอกว่า 

จ.หนองคาย ปัจจุบันเป็น จ.ที่ปลูกยางพารามากที่สุด ในภาคอีสาน 

ซึ่งทางจังหวัดตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2553 จะปลูกยางพาราให้ได้ 7 แสนต้น

อบจ.เองก็ส่งเสริม โดยจัดงบประมาณให้แก่โรงเรียนภายในจังหวัด จัดซื้อต้นกล้ายางพาราไปปลูกในพื้นที่ของโรงเรียน โรงเรียนละ 5 ไร่ เพื่อเป็นแปลงสาธิตให้แก่นักเรียนได้เรียนรู้

"ตอนนี้มีโรงเรียนอยู่ในโครงการนี้จำนวน 20 แห่ง โดยทาง อบจ.จะให้งบประมาณไปโรงเรียนละ 22,000 บาท เพื่อซื้อกล้ายางและปุ๋ย โดยให้นักเรียนเป็นคนลงมือปลูก"

ดร.จรูญบอกว่า นอกจากนี้ อบจ.ยังคิดจะปลูกฝังและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกยางพาราให้แก่ผู้สนใจและเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษา 1 ถึง 6 จึงได้จัดทำหลักสูตรการปลูกยางพาราในหนองคาย เป็นหลักสูตรให้นักเรียนได้เรียน

การจัดทำหลักสูตรดังกล่าวเริ่มต้นประชุมกันตั้งแต่ปี 2549 โดยการริเริ่มของ 

นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ. 

จากนั้น ทุกอย่างก็เข้าสู่การพิจารณาในรูปคณะกรรมการ มีนายยุทธนาเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา และคณะกรรมการอำนวยการ ส่วน ดร.จรูญเป็นประธานคณะทำงาน คณะทำงานประกอบด้วยนักวิชาการ ศึกษานิเทศก์ ครูผู้ชำนาญการจากโรงเรียนต่างๆ รวม 46 คน

ปีแรกที่มีการจัดทำหลักสูตร ได้รวบรวมองค์ความรู้จากผู้รู้เกี่ยวกับการปลูกยางพาราภายในจังหวัดหนองคายทั้งหมด จากนั้น จึงนำมาจัดทำเป็นหลักสูตรการศึกษาส่วนท้องถิ่น กระทั่งออกมาเป็นรูปเล่ม กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานเกษตร) การปลูกยางพาราในจังหวัดหนองคาย ตามหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

หลักสูตรการปลูกยางพารานี้จะเริ่มให้ความรู้ตั้งแต่ประวัติและความเป็นมาของยางพารา โดยบอกตั้งแต่ว่ายางพารามีต้นกำเนิดที่ลุ่มแม่น้ำอเมซอนประเทศบราซิลไปจนถึงประเทศเปรู ชาวอินเดียนแดงได้นำน้ำยางไม้มาใช้ประโยชน์ ต่อมามีการค้าขายโดยนำยางไม้ป่าไปซื้อขายที่เมืองพารา ประเทศบราซิล เพียงแห่งเดียว

จึงเรียกยางชนิดนี้ว่า "ยางพารา"

จากประวัติและความเป็นมาของยางพารา ยังได้บอกเล่าถึงความสำคัญของยางพารา สอนให้รู้จักวิธีการปลูกยางพาราตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ พันธุ์ยาง การคัดเลือกพันธุ์ยาง จนถึงการปลูก ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษายางพารา ทั้งการดูแล การปลูกซ่อม และการใส่ปุ๋ย ตลอดจนการกำจัดโรค

สุดท้ายคือการให้ความรู้เกี่ยวกับการเก็บเกี่ยว และการจำหน่ายผลผลิต ที่สอนวิธีการกรีดยางพารา วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ การจัดการน้ำยางพารา และการทำยางแผ่น แล้วก็เอายางแผ่นไปจำหน่าย

นายยุทธนาบอกว่า 

พื้นที่หนองคาย

-มีทั้งหมด 4 ล้านไร่ 
-เป็นที่อยู่อาศัย 2 ล้านไร่ 
-เป็นพื้นที่ทำการเกษตรอีก 2 ล้านไร่ และ
-ในจำนวน 2 ล้านไร่นี้เป็น การปลูกยางพาราประมาณ 6 แสนไร่ 
-ซึ่งต่อไปอาจจะปลูกมากถึง 1 ล้านไร่

อบจ.จึงอยากสอนให้เด็กและเยาวชนในหนองคายสามารถออกมาทำสวนยาง เช้ากรีดยาง กลางวันไปเรียน ตกเย็นเอายางแผ่นไปขาย

นี่เป็นแนวคิดจากคนในท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย

1 ความคิดเห็น:

  1. การปลูกยางพารานั้นควรมีการบำรุงต้นให้ได้ขนาดลำต้นประมาณ 3 มือจับหรือให้มีความยาวประมาณ 50 ซ.ม ถึงจะทำการกรีดต้นยางได้ อย่าไปดูที่ระยะเวลา 7 ปี เพราะขึ้นอยู่กับการดูแลของเกษตรกรแต่ละคน และสิ่งสำคัญถ้าเกิดหน้ายางตาย ผมแนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ตราดอกคูน เพราะสามารถทำให้น้ำยางออกได้ โดยเฉพาะหน้ายางตาย ประมาณ 1 - 5 ปี เพราะมีการใช้แล้วและเห็นผลแล้วแถว ภาคตะวันออก สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ คุณ รัฐฤทธิ์ ล้ำพานิช โทร 080 - 5607266

    ตอบลบ