3 เจ้าสัวแสนล้าน “มรรควิธี” สู่ ตระกูลมหาเศรษฐีโลก

30.10.55
โดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 22 ตุลาคม 2555

3 ตระกูลเจ้าสัวแสนล้าน มรรควิธีบริหารธุรกิจของพวกเขากลายเป็นกรณีศึกษาที่ทั่วโลกสนใจ ไม่ต่างจากหลายบริษัทข้ามชาติ ที่มาจากธุรกิจครอบครัว

ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นความเคลื่อนไหวคึกคักของ 3 ตระกูลมหาเศรษฐี “เจียรวนนท์ - สิริวัฒนภักดี และอยู่วิทยา” ผลัดกันเป็นข่าวดังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับการแผ่อาณาจักรธุรกิจแสนล้านของพวกเขา เลยขอบเขตประเทศไทย สู่ตลาดในภูมิภาคเอเซียและโลก

เพราะรู้ว่าคู่แข่งทางการค้าจะมีมากขึ้นเท่าๆกับขนาดของโอกาสที่เพิ่มมากขึ้น หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 กลายเป็นความได้เปรียบสำหรับผู้ที่มีความพร้อมจะต่อกรกับยักษ์ข้ามชาติ อย่างน้อยก็ 3 ตระกูลนี้ ที่ถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของ“ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก” ตามการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ นิตยสารธุรกิจชั้นนำของโลก

เลือดนักสู้ บวกทุนที่พกไปเต็มกระเป๋า ขอสู้ยิบตา !

อย่างการปะทะกับ “ไฮเนเก้น” ผู้ผลิตเบียร์อันดับ 3 ของโลก เพื่อช่วงชิงการเป็นผู้นำตลาดเบียร์ในเอเซีย ของตระกูลสิริวัฒนภักดี เป็นอาทิ

ทว่า ไม่เพียงความพร้อมทางการเงิน พวกเขายังต้องถึงพร้อมด้วย "ประสบการณ์" การต่อสู้ “มรรควิธี” ในการรบอย่างไรให้ชนะ ของ 3 ตระกูลเจ้าสัวแสนล้าน ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือ “ตระกูลมหาเศรษฐีโลก” ที่เขียนโดย อาจารย์ธนวัฒน์ ทรัพย์ไพบูลย์ นักเขียนสารคดีแนววิเคราะห์เจาะลึก ชีวิต ผลงาน แนวความคิด กลยุทธ์ และวิสัยทัศน์ รวมทั้งปรัชญาการบริหารธุรกิจของนักธุรกิจชั้นนำ โดยเฉพาะตระกูลเจ้าสัว ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ขอเรียบเรียงบางช่วงบางตอนของหนังสือเล่มนี้ เพื่อถ่ายทอดกลเม็ดเคล็บลับในการสร้างฐานะให้ร่ำรวย เป็นมหาเศรษฐีของทั้ง 3 ตระกูล ซึ่งผ่านการเคี่ยวกรำบนเส้นทางชีวิตที่คดเคี้ยวยากลำบาก พบพานกับปัญหามากมายแต่เพราะ “ความสามารถ” ทำให้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส นำพาธุรกิจครอบครัว (กงสี) ให้เติบใหญ่ไพศาลทั้งในและต่างประเทศ ในหลากหลายกิจการในเวทีการค้าโลก ขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเคียบเคียง วอลมาร์ท ฟอร์ด โตโยต้า พานาโซนิค ซัมซุง ซึ่งล้วนเริ่มต้นพัฒนามาจากธุรกิจครอบครัวทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นการนำระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัย ที่ผสมผสานการบริหารทั้งตะวันตกและตะวันออกมาใช้ดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึง “พลวัต” แห่งการพัฒนาทางธุรกิจการค้าของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้ระบอบ “ทุนนิยม” แห่งยุคโลกาภิวัตน์

-"เจียรวนนท์" : ผู้สรรค์สร้างอาณาจักร"ซี.พี." สู่บรรษัทข้ามชาติ

ในบรรดาตระกูลมหาเศรษฐีดัง “ตระกูลเจียรวนนท์” เป็นตระกูลเดียวในสังคมธุรกิจไทย ที่สร้างอาณาจักรธุรกิจ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ “ซี.พี.” จากธุรกิจเล็กๆ บนถนนทรงวาด ย่านเยาวราช กรุงเทพฯ ในปี 2464 จนมีชื่อระบือไกลและใหญ่ยิ่ง กลายเป็น “บริษัทข้ามชาติ” ระดับโลกในวันนี้

เฉพาะอย่างยิ่งองค์กรยักษ์ใหญ่แห่งนี้สามารถปรับตัว เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของระบอบทุนนิยมโลก อีกทั้งยังสามารถพัฒนากิจการค้าของตน สอดคล้องกับโอกาสใหม่ของสังคมธุรกิจในประเทศไทย ตลอดช่วง 9 ทศวรรษหรือ 90 ปีที่ผ่านมา

ในการก่อตั้งซี.พี.ของผู้นำตระกูลเจียรวนนท์ รุ่นที่ 1 ที่ชื่อ “เจี่ย เอ็กชอ” เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล จากสาธารณรัฐประชาชนจีน สร้างหลักปักฐานในไทย ด้วยการเปิดร้านค้าในชื่อร้าน “เจียไต้จึง” หรือ “เจียไต๋” ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผัก รวมทั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเกษตรอื่นๆ

กระทั่งก้าวสู่ยุคผู้นำตระกูลเจียรวนนท์ รุ่นที่ 2 ที่มี เจ้าสัวจรัญ เจียรวนนท์ เป็นผู้นำ เริ่มหันมาเริ่มต้นธุรกิจผลิต และจำหน่ายอาหารสัตว์นาม “เจริญโภคภัณฑ์” หรือ “ซี.พี.” จากนั้นอาณาจักรการค้าแห่งนี้ก็เติบใหญ่ไพศาล

โดยปี 2501 เป็นปีที่สมาชิกตระกูลเจียรวนนท์ที่ชื่อ “ธนินท์ เจียรวนนท์” บุตรชายคนสุดท้องของ นายเจี่ย เอ็กชอ ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 19 ปี เดินทางกลับประเทศไทย เพื่อมาช่วยงาน “เจ้าสัวจรัญ และ “เจ้าสัวมนตรี เจียรวนนท์” ผู้เป็นพี่ชาย จนกิจการเติบใหญ่ เปลี่ยนจาก “ธุรกิจครอบครัว” หรือธุรกิจของวงศ์ตระกูล ที่เรียกว่า “ระบบกงสี” สู่ระบบบริหารที่มีลักษณะ “สากล” เป็นการผสมผสานระหว่างการบริหารแบบตะวันตก และการบริหารแบบตะวันออก

โดยปัจจุบัน ธุรกิจของซี.พี. แบ่งออกเป็น 10 สาย คือ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม,กลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ,กลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์และเคมีเกษตร,กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ,กลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย,กลุ่มธุรกิจพัฒนาที่ดิน,กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี,กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม,กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม และกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป รวมทั้งธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย

ขณะที่การบริหารธุรกิจครอบครัวตระกูลเจียรวนนท์ นับจากนี้ อยู่บนบ่าของผู้นำตระกูลรุ่นที่ 3 ซึ่งก็จะได้พิสูจน์กันว่า บรรดาทายาทผู้นำตระกูลเจียรวนนท์รุ่นนี้ มีศักยภาพมีกลยุทธ์และมีวิสัยทัศน์ที่เยี่ยมยอด ในการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว กลายเป็นธุรกิจมหาชนได้ดี เฉพาะอย่างยิ่งสามารถขยายกิจการให้พัฒนาเติบใหญ่ไพศาลเพียงใด

-"สิริวัฒนภักดี" ผู้ไร้เทียมทานแห่งยุทธจักรสุราเมรัย

นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา หนึ่งในตระกูลเจ้าสัวที่เพิ่มสีสันให้แก่สังคมธุรกิจไทยเหนือตระกูลใด จนต้องบันทึกไว้เป็น “ตำนานธุรกิจการค้า” แห่งยุคโลกาภิวัตน์ ที่การประกอบธุรกิจการค้ามีลักษณะ “ไร้พรมแดน” คือตระกูล “สิริวัฒนภักดี”

ตระกูลสิริวัฒนภักดี นับเป็นตระกูลเจ้าสัวยุคใหม่ ผู้สร้างรากฐานทางธุรกิจการค้า จนประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เฉพาะอย่างยิ่งในยุคแห่งการเริ่มต้นและบุกเบิกธุรกิจการค้า ไม่ต้องอดอยากยากแค้นแสนลำเค็ญ เฉกเช่นกรรมกรแบกหามย่านทรงวาดและราชวงศ์ยุคก่อน

นั่นเป็นเพราะผู้นำของตระกูลนี้คือ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ผู้นำตระกูล “สิริวัฒนภักดี รุ่นที่ 1” เป็นผู้ที่มีวรยุทธ์หรือกลยุทธ์ ในการสรรค์สร้างอาณาจักรธุรกิจการค้า ที่เหนือกว่าเจ้าสัวรุ่นก่อนและรุ่นเดียวกัน

กระนั้นสิ่งที่เขามีเหนือยิ่งกว่าก็คือ มีทั้งความ “เก่ง” และความ “เฮง” หรือที่กล่าวกันว่ามีความอดทนมุ่งมั่น ที่จะบากบั่นฟันฝ่าขวากหนามและอุปสรรค และมีฝีไม้ลายมือในการประกอบกิจการค้า รวมทั้งมี “โชคดี” หรือ “มีโอกาสอำนวย” ตลอดถึงมีเคล็ดลับที่เยี่ยมยอดในการดำเนินชีวิต

ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ดี และเพราะมีภววิสัยที่เอื้ออำนวยนี้เอง จึงส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้นำตระกูลสิริวัฒนภักดี ก้าวมายืนอยู่บนเส้นทางเจ้าสัวผู้มั่งคั่งระดับแนวหน้า

ในต้นทศวรรษ 2550 ผู้นำตระกูลสิริวัฒนภักดี ประกาศนำพาอาณาจักร “ไทยเบฟเวอเรจ” ไปปักธงดำเนินธุรกิจการค้า และการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน เริ่มต้นในต้นปี 2555 ทำการเปิดโรงงานผลิตแก้ว โรงงานผลิตกระดาษชำระ และโรงงานผลิตกระป๋องอลูมิเนียม ที่ประเทศเวียดนาม

ยิ่งกว่านั้นเขายังประกาศขยายการลงทุน และมุ่งมั่นที่จะขยายอาณาจักรธุรกิจบางธุรกิจไปลงทุนในหลายประเทศของอาเซียน ขณะที่ก่อนหน้านี้เขาส่งธุรกิจสุราเมรัยออกไปสู่อาณาจักรเมรัยแห่งเอเชียและยุโรป กลายเป็นหนึ่งใน “กลุ่มทุนข้ามชาติ” ของไทยยุคธุรกิจไร้พรมแดน ดังจะได้กล่าวถึงวิถีชีวิต และเส้นทางการดำเนินธุรกิจของเขาโดยย่อ

ผู้นำตระกูลสิริวัฒนภักดี รุ่นที่ 1 ที่ชื่อ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ลืมตาขึ้นดูโลกครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2487 ที่ย่านทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ในครอบครัวชาวจีน “แต้จิ๋ว” มีชื่อจีนว่า “โซวเคียกเม้ง” หรือ “เคียกเม้ง แซ่โซว” ส่วนชื่อที่แท้จริงของเขาในวัยเด็กคือ “เจริญ แซ่โซว”

เจ้าสัวเจริญ ก้าวเข้าสู่ยุทธจักรสุราและเมรัย ประมาณช่วงปี 2504 ซึ่งเป็นช่วงแรกที่กิจการสุรามีการเริ่มต้นแปรเปลี่ยน จากองค์กรของรัฐบาลสู่ภาคเอกชน โดยมีกลุ่มเจ้าสัวที่มีชื่อเสียงในยุทธจักรการค้า 4 ตระกูล ตัดสินใจเป็นพันธมิตรทางธุรกิจจัดตั้งบริษัทสุรามหาคุณ ในอันที่จะเป็นผู้บริหารกิจการสุราแม่โขงของรัฐ

กลายเป็นปฐมบทในการย่างกลายสู่ยุทธจักรสุราและเมรัยของเจ้าสัวเจริญ จากจุดนี้เอง ที่ทำให้เขากลายเป็นพยัคฆ์เสียบปีก เฉพาะอย่างยิ่งเป็นจอมยุทธ์ผู้ไร้เทียมทานแห่งยุทธจักรสุราและเมรัย ซึ่งยามนั้นคือ “ชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์” อันลือลั่น กลายเป็นตำนานชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์แห่งยุทธจักรสุราเมรัยของไทย ที่เล่าขานกันมิรู้จบ ตลอดถึงยังกลายเป็น “กรณีศึกษา” ธุรกิจการค้าของไทย ในยุคที่ประเทศไทยอยู่ในระบอบเผด็จการทหาร

นับตั้งแต่ปี 2525 ถึงปี 2535 อาณาจักรธุรกิจการค้าของตระกูลสิริวัฒนภักดี สามารถแผ่ขยายอย่างกว้างใหญ่ไพศาลยิ่ง ทั้งธุรกิจสุรา โรงงานน้ำตาล ธนาคาร บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต และโรงงานกระดาษ เป็นต้น ซึ่งรวมอยู่ใน “กลุ่มบริษัทไทยเจริญ” หรือ “ทีซีซีกรุ๊ป” โดยมีการแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มสุรา, กลุ่มเบียร์, กลุ่มโรงแรม, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์, กลุ่มประกันภัย, กลุ่มกระดาษ, กลุ่มน้ำตาล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การประกอบธุรกิจการค้าของตระกูลสิริวัฒนภักดี ก็มิได้ราบเรียบเหมือนกับโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป นั่นเป็นเพราะในปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ส่งผลให้สถาบันการเงินต้องถูกคำสั่งให้ปิดกิจการถึง 56 แห่ง

กระนั้นในความโชคร้ายก็มีโชคดีดำรงอยู่ นั่นเป็นเพราะนับตั้งแต่ปี 2538 ที่เจ้าสัวเจริญรุกคืบสู่ธุรกิจเบียร์ ด้วยการเปิดตัวแบรนด์ “เบียร์ช้าง” เพื่อช่วงชิงตลาดเบียร์ ด้วยกลยุทธ์ขายเหล้าพ่วงเบียร์ รวมทั้งมีการใช้กลยุทธ์อื่นๆ มากมายนั้น ปรากฏว่าในกาลต่อมา “เบียร์ช้าง” ก้าวสู่เบียร์ชั้นนำเหนือกว่า “เบียร์สิงห์” ของตระกูลภิรมย์ภักดีอยู่หลายปี ก่อนที่เบียร์สิงห์จะยึดครองความเป็นหนึ่ง ในการผลิตและจำหน่ายเบียร์กลับคืนมา

ทางด้านธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้น ปรากฏว่าตระกูลสิริวัฒนภักดีตัดสินใจซื้อกิจการเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ ที่มีชื่อระบือไกลทางด้านเครื่องดื่มชาเขียว คือเข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งแต่เดิม เจ้าสัวตัน ภาสกรนที เป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนี้ มิเพียงแค่นั้นยังใช้ บริษัท ที.ซี.ซี. โฮลดิ้ง เข้าไปซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) ที่มีอายุกว่า 120 ปี

ล่าสุดยังเข้าถือหุ้นใหญ่บริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) สิงคโปร์ กุม 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ และสิ่งพิมพ์ของสิงคโปร์ ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์และมาเลเซีย และรายใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก ปูทางอาณาจักรสู่เอเซีย

-"อยู่วิทยา"ปลุกปั้น “เรดบูล” สู่แบรนด์นำระดับโลก

วันที่ 17 มีนาคม 2555 เจ้าสัว “เฉลียว อยู่วิทยา” ผู้นำตระกูล “อยู่วิทยา รุ่นที่ 1” มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งร่ำรวยติดอันดับโลก เคยได้รับการกล่าวขานกันว่า เป็น “พญามังกรซ่อนกาย” และเป็นนักการตลาดระดับปรมาจารย์ อำลาจากโลกนี้ไปด้วยโรคชรา ขณะที่มีอายุ 89 ปี

แม้เขาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่เส้นทางธุรกิจสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเขา เป็นสิ่งที่ต้องจารึกไว้เป็นตำนาน เพื่อเป็นทั้ง “บทเรียน” และ “กรณีศึกษา” ทั้งแก่คนรุ่นนี้และรุ่นหลัง เฉพาะอย่างยิ่งความเก่งทางด้านกลยุทธ์การตลาดที่เหนือชั้น สามารถปลุกปั้นเครื่องดื่มชูกำลังนาม “กระทิงแดง” หรือ “เรดบูล” เพียงแบรนด์เดียวก็ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ เกรียงไกรโดดเด่นขจรขจายจากไทยไปทั่วโลก

เมื่อเพ่งพิจารณาถึงสไตล์ หรือมรรควิธีบริหารของเจ้าสัวผู้นี้ ปรากฏว่านอกจากยึดหลักการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย บากบั่น มุ่งมั่น ทำงานหนัก ไม่นิยมชมชอบความหรูหราแล้ว ยังเป็นผู้ที่มีสไตล์บริหารธุรกิจ ที่ไม่มีใครเหมือนหรือไม่เหมือนใคร อีกด้วย

ความแตกต่างและความโดดเด่น ในการดำเนินธุรกิจการค้าของเขา เช่น การไม่ต้องพึ่งพาอาศัยขุนพล หรือนักบริหารมืออาชีพ หากแต่มีสไตล์บริหารแบบตะวันออก คือบริหารแบบชาวจีนยุคก่อน อีกทั้งขยายกิจการอย่างระมัดระวังและมีจังหวะก้าว ตลอดถึงมีการสำรวจค้นคว้า หรือศึกษาจนถ่องแท้ในธุรกิจที่จะลงทุน

ทั้งนี้ ผู้นำตระกูลอยู่วิทยาที่ชื่อ “เฉลียว อยู่วิทยา” เริ่มต้นก่อตั้งและบุกเบิกเครื่องดื่มชูกำลังเพียงแบรนด์เดียวคือ “กระทิงแดง” หรือ “เรดบูล” ด้วยการต่อยอดธุรกิจนี้จากโรงงานผลิตยาปฏิชีวนะของเขา ที่มีพนักงานไม่ถึง 10 คน

หลังจากค้นพบสูตรเครื่องดื่มชูกำลัง “กระทิงแดง” แล้ว ก็ใช้เวลาตระเตรียมทางด้านการผลิตและการตลาดระยะหนึ่ง จึงเริ่มต้นผลิตจำหน่ายและได้รับความนิยมจากนักดื่มอย่างแพร่หลายกลายเป็นเครื่องดื่มประเภทชูกำลังชั้นนำแบรนด์หนึ่งของไทย

กระทั่งในปี 2527 นักธุรกิจชาวออสเตรียที่ชื่อ “ดีทริช เมเทสซิทซ์” ลิ้มลองรสชาติแล้วพึงพอใจ จึงตัดสินใจร่วมก่อตั้ง บริษัท เรดบูล จีเอ็มบีเอช ออสเตรีย จำกัด ด้วยการร่วมทุนระหว่างตระกูลอยู่วิทยากับนักธุรกิจชาวออสเตรียผู้นี้

ในปี 2530 แบรนด์ “เรดบูล” เริ่มต้นจำหน่ายครั้งแรกในประเทศออสเตรีย ต่อมาเครื่องดื่มชูกำลังนี้ก็ขจรขจายไปทั่วโลก กลายเป็นแบรนด์ครองใจนักดื่มชาวต่างชาติในเวลารวดเร็ว เฉกเช่นฐานะของ เจ้าสัวเฉลียว อยู่วิทยา ก็มั่งคั่งร่ำรวยติดอันดับโลกอย่างรวดเร็ว

นั่นก็คือเขาถูกจัดอันดับจากนิตยสาร “ฟอร์บส์” ให้ร่ำรวยติดอันดับ 260 อภิมหาเศรษฐีโลก ในปี 2551 และในปี 2552 ก็ยังได้รับเลื่อนอันดับเป็น 151 อภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยระดับโลก ซึ่งมีความมั่งคั่งร่ำรวยอันดับ 1 ของไทย โดยมีทรัพย์สินประมาณ 132,000 ล้านบาท

ในปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่เขาเสียชีวิต นิตยสารฉบับนี้จัดอันดับให้เขาเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 3 ของไทย และติดอันดับ 205 ของอภิมหาเศรษฐีโลก ด้วยสินทรัพย์ประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท รองจาก เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ และเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

------------------------------------

15 มรรควิธีรวยแบบ 3 เจ้าสัว

1.ดำเนินธุรกิจที่สุขุมลุ่มลึก ให้ความสำคัญกับระบบอุปถัมภ์ ตลอดถึงต้องซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค

2.ศึกษาและแสวงหาความรู้ รวมทั้งมีการวิเคราะห์เจาะลึกทางด้านการตลาด ไม่ลงทุนในกิจการที่ตนไม่ถนัดและไม่ชอบ รอจังหวะที่เหมาะสม

3.ตัดสินใจรุกหรือถอยทางธุรกิจ อย่างเด็ดเดี่ยวทันกาล กล้าได้กล้าเสีย ยอมขาดทุนก่อน มีกำไรภายหลัง

4.ยึดหลักสร้างภาพลักษณ์โดดเด่น ด้วยกิจกรรมทางสังคม

5.มีศิลปะใช้คนให้เหมาะกับงาน ใช้งานให้เหมาะกับคน เปิดโอกาสให้บุคลากรในองค์กรได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เปิดใจกว้างรับฟังและเรียนรู้

6.ยึดหลักการบริหารงานแบบทีมเวิร์ค ด้วยวิธีกระจายอำนาจ ไม่เหมาทำงานหรือมุ่งบริหารงานด้วยคนๆ เดียว

7.มีความสามารถสร้างคน และรักษาคนให้อยู่กับองค์กรยาวนาน ยึดหลัก “ใช้คนไม่ระแวง ถ้าระแวงไม่ใช้” และให้ผลตอบแทนที่ดี

8.ยึดหลักทำในสิ่งที่ชอบ และชอบในสิ่งที่ทำ และรู้ในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่รู้

9.มีการปรับเปลี่ยนระบบบริหาร และปรับเปลี่ยนบุคลากรในองค์กร ให้ทันยุคทันสมัยอยู่เสมอ

10.ยึดหลักการบริหารแบบผสมผสาน ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก เฉพาะอย่างยิ่งนำแนวทางบริหารที่ก้าวหน้าทันสมัย

11.ยึดหลักขยายธุรกิจครบวงจร แต่ต้องสร้างธุรกิจเดิมให้มีความมั่นคงเสียก่อน

12.เน้นประกอบธุรกิจที่สามารถขยายฐานลูกค้า ไม่จำกัดเฉพาะเชื้อชาติหรือประเทศหนึ่งประเทศใด

13.เป็นผู้ที่มีโลกทัศน์และวิสัยทัศน์กว้างไกล เฉพาะอย่างยิ่งวิสัยทัศน์ทางการค้า มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น

14.“คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก” และ “ทำใหญ่ไม่ทำเล็ก” ด้วยเหตุนี้จึงต้อง “อิงฐานอำนาจรัฐ” เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ

15.อาศัยพันธมิตรทางธุรกิจ เฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีของพันธมิตร มาสรรค์สร้างสินค้าและผลิตภัณฑ์ของตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น