ไอศกรีมมะม่วงน้ำดอกไม้แบบฉบับชาวสวนแปดริ้ว

5.3.55
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 มีนาคม 2554 09:49 น.

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูที่ผลผลิตมะม่วงออกสู่ตลาด ทุกคนจะได้บริโภคมะม่วงกันในราคาถูก และได้เห็นการแปรรูปมะม่วงออกมาในรูปแบบต่างๆ อาทิ มะม่วงกวน มะม่วงดอง เป็นการถนอมอาหารแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่ในยุคปัจจุบัน ถ้าเป็นคนเมืองพอถึงเวลานี้ ก็ต้องตั้งหน้ารอดูการโปรโมทของร้านไอศกรีมชื่อดัง เพราะจะได้กินไอศกรีมมะม่วง

สำหรับชาวสวน เจ้าของผลผลิตมะม่วง ที่เดิมทำแต่มะม่วงกวน หรือ มะม่วงดอง วันนี้ ชาวสวนมะม่วงของอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เจ้าของสวนที่มีชื่อว่า “สวนมะม่วงน้องปลื้ม” ไม่ได้แค่แปรรูปมะม่วงตามภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่สามารถนำมะม่วงจากสวนมาเพิ่มมูลค่า ออกมาเป็นไอศกรีมมะม่วง สำหรับรสชาติ เชื่อว่า คนที่ชอบไอศกรีมกะทิสดแบบโบราณ ต้องชื่นชอบไอศกรีมมะม่วง ของสวนมะม่วงน้องปลื้มแห่งนี้

น.ส.สุพัตรา พัชรารัตน์ หนึ่งในทายาท เจ้าของสวนมะม่วงแห่งนี้ 

เล่าว่า ปัจจุบันครอบครัวของเราปลูกมะม่วงบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ มะม่วงที่สวนจะมีหลากหลายชนิด แต่ที่ปลูกมากที่สุด คือ น้ำดอกไม้สีทอง ซึ่งในช่วงที่ผลผลิตออกมากๆ ในระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคม จะนำมะม่วงมาแปรรูปเป็นไอศกรีม ส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวของเรา นอกจากปลูกมะม่วงขายแล้ว ตั้งแต่สมัยคุณย่า ทำไอศกรีมกะทิขายในพื้นที่ เพราะที่สวนของเรามีผลผลิตมะพร้าวจำนวนมาก

โดยไอศกรีมกะทิของย่าทำขายมานานกว่า 30 ปี ซึ่งวิ่งรถมอเตอร์ไซด์พ่วงขายตามหมู่บ้าน ชุมชนตลาดสด ใกล้เคียง ไอศกรีมกะทิของย่า จะเป็นสูตรโบราณในช่วงหลังได้ปรับมาใส่ในลูกมะพร้าว เนื่องจากที่สวนมีผลผลิตมะพร้าวจำนวนมาก เนื้อและน้ำก็แบ่งมาทำไอศกรีม ส่วนตัวกะลามะพร้าวที่ติดเนื้อ ก็นำมาเป็นภาชนะใส่ไอศกรีม ลูกค้าชื่นชอบ เพราะได้กินเนื้อมะพร้าวที่ติดมากับกะลาด้วย คนส่วนใหญ่ในย่านนั้นจะรู้จักไอศกรีมกะทิในลูกมะพร้าวของย่า ปัจจุบันย่าไม่ได้ขายเอง แต่ให้ลูกๆ หลานออกไปขาย ส่วนสูตรต่างๆ ยังคงเป็นสูตรดั้งเดิมอยู่

สำหรับในส่วนของไอศกรีมมะม่วง เป็นสูตรเดียวกับไอศกรีมกะทิ แต่จะเพิ่มเนื้อมะม่วงลงไปปั่นด้วย โดยมะม่วงที่ลือกใช้มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เบอร์ 4 เพราะมีรสชาติหวาน และเนื้อแน่น ทำให้ได้เนื้อเยอะเวลานำมาปั่นรวมกับไอศกรีม ไอศกรีมหนึ่งถังประมาณ 8 กิโลกรัม จะใช้มะม่วงน้ำดอกไม้ประมาณ 5 กิโลกรัม เราใส่มะม่วงได้เต็มที่ เพราะมีต้นทุนมะม่วงที่สวนของตัวเอง มะม่วงที่นำมาใช้ได้ จะเป็นมะม่วงที่สุกแบบพอดี ไม่สุกมากหรือน้อยเกินไป

นอกจากการใส่เนื้อมะม่วงลงไปปั่นรวมกับไอศกรีมกะทิ จนออกมาเป็นไอศกรีมมะม่วงแล้ว เติมกลิ่นวนิลาลงไปเพื่อเพิ่มความหวานหอม และเพื่อให้สีสันที่ออกเหลืองนวลขึ้นมามากกว่า ความเหลืองของมะม่วงเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะออกสีซีดดูไม่น่ารับประทาน และในส่วนของท็อปปิ้ง ใช้เนื้อมะม่วงสุกมาหั่นพอดีคำ แต่งเป็นท็อปปิ้ง พร้อมกับข้าวเหนียวมูลนึ่งสุก ข้าวเหนียวจะไม่หวานมาก เพราะตัวไอศกรีมและมะม่วงหวานอยู่แล้ว ตักใส่ถ้วยกระดาษ ขายในราคาถ้วยละ 25 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับไอศกรีมกะทิสดในลูกมะพร้าว

“แม้เติมมะม่วงลงไปแต่เราก็ยังขายในราคาไอศกรีมกะทิของเดิมได้ เพราะต้นทุนมะม่วงมาจากสวนของตัวเอง และเราก็จะทำออกขายเฉพาะฤดูที่ผลผลิตมะม่วงออกเท่านั้น ต้นทุนมะม่วงจึงไม่สูง แต่ถ้าคิดราคามะม่วงอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท (ราคาจากหน้าสวน) โดยขายอยู่ประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น

ดังนั้น ลูกค้าก็จะตั้งตารอคอยไอศกรีมมะม่วงจากที่สวนของเรา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะชื่อเสียงไอศกรีมของเราเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งมาจากชื่อเสียงความหวาน หอม อร่อยของมะม่วงจากที่สวนของเราด้วย ที่ทำให้ทุกคนตั้งตารอ”

นางสาวสุพัตรา เล่าว่า ได้ทำไอศกรีมมะม่วงออกขายมานานกว่า 4 ปี เคยนำมาขายในงานเทศกาลมะม่วงเมื่อปีที่ผ่านมาเป็นปีแรก และปีนี้ (2554) เป็นครั้งที่ 2 ผลตอบรับในปีแรกดีมาก สามารถขายไอศกรีมมะม่วงได้มากกว่า 300 ถ้วยต่อวัน ซึ่งในปีนี้ ผลตอบรับก็ดีเช่นกัน มีลูกค้าเก่า แวะเวียนมาอุดหนุน ส่วนลูกค้าก็มีมาทดลองชิม ส่วนใหญ่ค่อนข้างพึ่งพอใจกับรสชาติ คงจะไม่ต้องมีการปรับรสชาติแต่อย่างใด

โทร. 08-1752-9684

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น